‘รัฐ-ธุรกิจ’จุดพลุเทรนด์ใหม่ ป้องสิทธิมนุษย์ขนโชว์เวทีโลก

02 เม.ย. 2560 | 10:00 น.
มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเตรียมจับมือระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจกว่า 30 แห่ง เพื่อจุดพลุร่วมสร้างจิตสำนึกสิทธิมนุษยชนในการประกอบธุรกิจอย่างจริงจัง ซึ่งภาครัฐจะจัดทำแผนปฎิบัติการให้แล้วเสร็จในปี 2561 เพื่อเสนอต่อสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ต่อไป

 ชูธุรกิจป้องสิทธิมนุษยชน
นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ขยายความว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความก้าวหน้าสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนมาก โดยประเทศไทยมีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน 8 ฉบับจากทั้งหมด 9 ฉบับ

อาทิ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนทางสังคมและวัฒนธรรม อนุสัญญาขจัดการเลือกปฎิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน อนุสัญญาว่าด้วยการบังคับให้คนสูญหาย โดยทั้ง 5 ฉบับทางคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพรับผิดชอบ

ที่ผ่านมาปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจของประเทศทั่วโลกมีจำนวนมาก รวมทั้งในประเทศไทย ทางยูเอ็นจึงมีมาตรการออกมาในปี 2012 ให้ออกเป็นกฎหลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนออกมาใช้ ประกอบกับทางประเทศไทยได้นำเสนอ UPR (Universal Periodic Review - UPR ) เมื่อปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับคำแนะนำจากประเทศสวีเดนว่า ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพราะปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยมีเยอะ โดยเฉพาะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับที่รัฐบาลมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ทางเราจึงให้คำมั่นกับทางยูเอ็นในเวทีระหว่างประเทศในปี 2559 ว่า เราจะทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

“ประเทศไทยจึงรับเอาหลักการชี้แนะมาทำในประเทศไทยด้วย ซึ่งในประเทศอาเซี่ยนยังไม่มีประเทศใดทำอย่างจริงจัง ประเทศเราประกาศเลยว่าประเทศไทยจะเป็นแชมเปี้ยนเป็นเรื่องเด่นของประเทศไทยและเรามีความสามารถที่จะทำได้”

อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่เรารับผิดชอบเพราะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนทางสังคมและวัฒนธรรม อัยการสูงสุดเพิ่งเสนอให้กรมคุ้มครองสิทธิฯรับผิดชอบตั้งแต่เมษายน 2559 จึงเป็นที่มาว่าสิทธิมนุษยชนทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นเรื่องของธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งในประเทศ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นผู้รับผิดชอบข้อร้องเรียน ซึ่งข้อร้องเรียนที่กสม.ได้รับช่วง 2-3 ปีหลัง จะเกี่ยวข้องกับทางละเมิดสิทธิมนุษยชนเด็กในภาคธุรกิจในโครงการขนาดใหญ่

ธุรกิจร่วมสำนึก
ในส่วนของภาคธุรกิจ Global Complex Network ซึ่งมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ประมาณ 30 บริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทย อาทิ กลุ่มซีพี บริษัท ปตท. เป็นต้น ก็มาจับมือกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรภาพ ในฐานะรับผิดชอบกติกา ประกอบกับเรารับข้อเสนอ UPR เราก็ร่วมมือกับภาคธุรกิจ และ ดร.เสรี นนทสูติ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซี่ยนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม มาร่วมือกันในการทำเรื่องนี้อย่างจริงๆจังๆ

“นายกรัฐมนตรีรับเรื่องแล้ว เรา และกสม.จะจุดพลุเรื่องนี้จัดประชุมเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนวันที่ 29-30 พฤษภาคมนี้ ที่ยูเอ็น ประจำประเทศไทย จะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากยูเอ็น โดยเชิญ Mr.Dante Pesce ประธานคณะทำงานดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น มาในงานนี้ด้วย เพราะเราประกาศบนเวทีโลกและระดับภูมิภาคว่าเราจะทำ อีกอย่างเนื่องจากประเทศเรามีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับต้นๆ ธุรกิจเหล่านี้ไม่ว่าโรงแรม การกินอยู่ เราจะทำแบบเดิมไม่ได้ ทุกภาคส่วนมาช่วยกันรวมทั้งเพื่อนเราต้องมาช่วยกัน”

 แผนปฏิบัติการแล้วเสร็จปี 61
สำหรับแผนที่จะทำ คือ ในปี 2560 นี้จะวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ ต่อมาในปี 2561 จะทำเป็นแผนปฎิบัติการระดับชาติว่าด้วยแผนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเป็นเหมือนไกด์ไลน์ให้ทุกส่วนนำไปปฎิบัติ ซึ่งทุกส่วนจะต้องยึดตามแผนปฎิบัติการ คือภาคธุรกิจที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ก็จะยึดถือหลักการนี้แล้วจะปฎิบัติตาม

ที่ต้องมีแผนปฎิบัติการเพราะ ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมีมากขึ้น อันเนื่องมาจากการจ้างแรงงานที่ไม่เป็นธรรม เรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อม แม้ว่าบริษัทที่เขามีการดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนดี

แต่กรณีมีเอาท์ซอร์ซ หรือซับพลายเชน เขาไม่ได้ใส่ใจว่าการจ้างแรงงานจะเป็นอย่างไร จะสร้างปัญหากับสิ่งแวดล้อมอย่างไร ต่อไปนี้ไม่ได้แล้ว เพราะมันคือคามรับผิดชอบของบริษัท จะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ และการที่บริษัทบอกว่า การตัดต้นทุนการผลิตแค่นี้ไม่เพียงพอกับโลกปัจจุบัน เพราะโลกปัจจุบันต้องการบริษัทที่มีความรับผิดชอบกับสังคม แล้วจึงขายของได้ดี

ยกตัวอย่างกรณีประเทศสวีเดน ที่เป็นประเทศต้นแบบของสิทธิมนุษยชน บริษัทขนาดใหญ่ที่จะขายของได้ดี เช่น บริษัท อิเกีย และบริษัท เอช แอนด์ เอ็ม ประกาศเลยว่าเป็นบริษัทที่ใส่ใจเรื่องสิทธิมนุษยชน คนก็ซื้อของเขา แต่เมื่อใดที่เขาใช้แรงงานเด็กเขาก็ประกาศเลย เช่น เอช แอน เอ็ม จะไม่ใช้แรงงานเด็ก ไม่ใช้การผลิตใดๆที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เขามองว่าภาพลักษณ์คือกำไร ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม เพียงแค่ตระหนัก และผูกติดในวิญญาณของการทำธุรกิจ เสมือนเป็นต้นทุนความดีงามของบริษัท เป็นการปลูกจิตสำนึกไปถึงซัพพลายเชน

นางสาวปิติกาญจน์ ระบุว่า ข้อเสนอธุรกิจกับมนุษยชน ไม่มีบทลงโทษ แต่จะมีหลักการ 3 ประการ คือ 1.ภาคธุรกิจมีหน้าที่ในการเคารพสิทธิมนุษยชน 2.รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองประชาชนในประเทศ และ 3.การเยียวยาเป็นหน้าที่ของทุกคน แต่หลักการที่ยูเอ็นตั้งขึ้นมาเป็นหลักความสมัครใจ ไม่ได้บังคับ เช่น กรณีมีการร้องเรียนเหมืองทอง ทำลายสิ่งแวดล้อม ต้องมานั่งคุยกัน รัฐต้องจัดการซึ่งไม่ใช่การเยียวยาอย่างเดียว ต้องเป็นเรื่องของจิตสำนึก โดยหลักการของยูเอ็น เริ่มตั้งแต่การขอโทษ จนถึงการเยียวยา

“เราตื่นเต้นมากที่มีภาคธุรกิจมาช่วยขับเคลื่อนด้วย ซึ่งวิน-วิน กับทุกฝ่าย มีการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปพร้อมๆ กัน บริษัทที่เข้าร่วมกับเราก็มีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว เขามีสำนึกในการเคารพสิทธิอยู่แล้ว ไม่ใช่เอากำไรอย่างเดียว แต่ถ้ามาร่วมจะผูกมัดและผูกมัดเขามากขึ้น ”

 ธุรกิจ-มูลนิธิ ที่ร่วมป้องสิทธิมนุษยชน
• เครือเจริญโภคภัณฑ์
• บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
• บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน)
• บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
• บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
• บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
• บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
• บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
• บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน)
• บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)
• บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
• บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
• บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน)
• บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน)
• บริษัท ไทย บริติช ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด (มหาชน)
• สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
• แพรนด้า กรุ๊ป
• บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน
• บริษัท ครูเซล (ประเทศไทย) จำกัด
• บริษัท วงศ์บัณฑิต สุราษฎร์ธานี จำกัด
• บริษัท เอนเนอร์จี ไทย เทรดดิ้ง ฮับ จำกัด
• บริษัท พริ้นท์ ซิตี้ จำกัด
• โซนีว่าคีรี รีสอร์ท
• ชีวาศรม อินเตอร์เนชานแนล เฮลธ์ รีสอร์ท
• สถาบันไทยพัฒน์
• บริษัท รักษาความปลอดภัยและบริการ เมนสเตย์ พร็อพเพอร์ตี้ โซลูชั่น จำกัด
• บริษัท แพทเทอเร่อ เทคนิคคอล พาทส์ จำกัด
• บริษัท เชอวาล กรุ๊ป จำกัด
• บริษัท มาลาพลาส จำกัด
• มูลนิธิอินเตอร์เนชั่นแนลไทย
• มูลนิธิพุทธรักษา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,249 วันที่ 2 - 5 เมษายน พ.ศ. 2560