“ตลาดสี่มุมเมือง” ที่กั้นเข้าห้องน้ำหยอดเหรียญ จุดเสี่ยงโควิด

19 พ.ค. 2564 | 08:59 น.

“ตลาดสี่มุมเมือง” ที่กั้นเข้าห้องน้ำหยอดเหรียญ จุดเสี่ยงโควิดที่ต้องระวัง ขณะที่กรมควบคุมโรค เตือน 12 จุดเสี่ยงที่สัมผัสร่วมในที่สาธารณะ หากสัมผัสแล้วควรรีบล้างมือ ป้องกันโควิด

วันที่ 19 พ.ค.64 จากกรณีตลาดสี่มุมเมืองมีผลการตรวจคัดกรองเชิงรุกระหว่างวันที่ 7-15 พฤษภาคม 2564 คัดกรองแล้ว 10,480 คน พบติดเชื้อ 867 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 โดยผู้ติดเชื้อเป็นคนไทยร้อยละ 70 ต่างด้าวร้อยละ 30 เป็นการติดเชื้อใน 2 โซน จากทั้งหมด 10 กว่าโซน จึงมีการสั่งปิดในโซนที่พบผู้ติดเชื้อเพื่อควบคุมโรค และจัดตั้งโรงพยาบาลสนามบุญรักษาภายในตลาดจำนวน 400 เตียง และวันที่ 20 พฤษภาคม จะเปิดเพิ่มอีก 400 เตียง 

จากการสอบสวนโรคพบปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ ที่กั้นเข้าห้องน้ำแบบหยอดเหรียญ เป็นความเสี่ยงในการสัมผัสและแพร่เชื้อ  

สำหรับจังหวัดปทุมธานีได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กลุ่มเป้าหมายไปแล้วจำนวน 38,161 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 25,019 ราย และครบสองเข็ม 13,142 ราย ส่วนการจองวัคซีน มีผู้จองวัคซีนแล้ว 87,259 คน คิดเป็นร้อยละ 11.29 จากกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 773,126 คน
 

หากใครยังต้องออกไปทำงาน เดินทาง และทำธุระในที่สาธารณะ นอกจากการใส่ หน้ากากอนามัยตลอดเวลา อาจจะยังป้องกันเชื้อไม่พอ เพราะอาจจะแฝงตัวอยู่ตามสถานที่ หรือสิ่งของต่างๆ  วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งเหล่านั้น แต่หากเลี่ยงไม่ได้ ให้รีบทำความสะอาดร่างกายหลังสัมผัสทันที เช่น ล้างมือ 

ที่กั้นเข้าห้องน้ำหยอดเหรียญ จากกรณีตลาดสี่มุมเมืองถือเป็นจุดเสี่ยงโควิดที่ต้องระมัดระวังเพิ่มเติม โดยที่ผ่านมากรมควบคุมโรค เปิดจุดเสี่ยงที่สัมผัสร่วมในที่สาธารณะ หากสัมผัสแล้วควรรีบล้างมือ ป้องกันโควิด พร้อมแนะผู้ที่ทำงานนอกบ้านต้องเข้มมาตรการ D-M-H-T-T เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ที่ยังพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

เพื่อเป็นการลดจำนวนผู้ป่วย ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสจุดที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดในที่สาธารณะ และลดการเดินทางไปยังสถานที่แออัดอากาศถ่ายเทไม่สะดวกหรือมีคนอยู่เป็นจำนวนมาก แต่หากจำเป็นต้องเดินทางไปทำงานหรือออกนอกบ้านไปทำธุระส่วนตัว ควรปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 
 

12 จุดเสี่ยงโควิดในที่สาธารณะ 

1.    ราวบันได 

2.    ห้องน้ำสาธารณะที่ใช้ร่วมกัน

3.     ลูกบิดหรือที่จับประตู 

4.    โทรศัพท์ที่ใช้ร่วมกันในองค์กร 

5.    ไมโครโฟน 

6.    ราวจับรถสาธารณะ 

7.    เหรียญหรือธนบัตร 

8.    ตู้ ATM 

9.    โต๊ะทำงาน 

10.    รถเข็นหรือตะกร้าในห้างหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต 

11.    ปุ่มกดลิฟต์ 

12.    ที่เปิดประตูรถสาธารณะ 

หากมีการสัมผัสจุดเสี่ยงหรือใช้ของร่วมกับผู้อื่น ควรรีบล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์โดยเร็ว และเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน เพื่อลดความเสี่ยงในแพร่และรับเชื้อดังกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง