สรุปปฏิทิน "วันเปิดเทอม" ทั้ง ประถมฯ-มัธยม-มหาวิทยาลัย

13 พ.ค. 2564 | 21:00 น.

สรุปปฏิทิน Timeline "วันเปิดเทอม" หรือ เปิดภาคเรียนปี 2564 ของทั้ง ประถมศึกษ-มัธยมศึกษา และ มหาวิทยาลัย

ฐานเศรษฐกิจ รวบรวมข้อมูล "วันเปิดเทอม" หรือ เปิดภาคเรียนประจำปีการศึกษา 2564 ของทุกระดับชั้น ทั้งประถมศึกษา มัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัย โดยมีรายละเอียด ดังนี้
 
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งกำกับดูแลโรงเรียนในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ระบุว่า การเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ซึ่งเลื่อนจากเดิมวันที่ 17 พ.ค. มาเป็นวันที่ 1 มิ.ย. สพฐ. ได้แบ่งระยะดำเนินการออกเป็น 3 ช่วง คือ 

ช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 11-16 พ.ค. 

ให้ผอ.เขตพื้นที่ทำการตรวจทานและสรุปข้อมูลอีกครั้งว่าโรงเรียนจะใช้วิธีการเรียนการสอนรูปแบบใด และมีจำนวนนักเรียนกี่คนในแต่ละรูปแบบ พร้อมทั้งกำชับในเรื่องการรับนักเรียนในส่วนของการจับสลาก ให้จำกัดคนเข้าได้คราวละไม่เกิน 200 คน ตามมาตรการป้องกันโรคของ ศบค. 

นอกจากนั้นจะมีการเตรียมพร้อมสนับสนุนโรงเรียนและครูในเรื่องการสอนออนไลน์ โดย สพฐ. จะปรับคลังสื่อการเรียนรู้ทั้งหมด จำแนกไว้สำหรับนักเรียนในแต่ละชั้นเรียนเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้โรงเรียนสามารถนำสื่อหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้เหล่านี้ไปใช้ได้อย่างรวดเร็วคล่องตัวยิ่งขึ้น

 

ช่วงที่ 2 ในระหว่างวันที่ 17-31 พ.ค. 

เป็นการเตรียมความพร้อมด้านการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนและครู โดย สพฐ. ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในการพัฒนาครูให้มีทักษะการสอนที่น่าสนใจ โดยเรียนรู้เทคนิควิธีการสอนผ่านคลิปวิดีโอในสื่อออนไลน์ (รับชมได้ตั้งแต่วันที่ 12-28 พ.ค.) 

รวมถึงร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาครูให้สามารถสอนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งประสานกับ DLTV ในเรื่องการจัดตารางการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับการจัดตารางเรียนปกติที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. และยังได้เตรียมกิจกรรมเสริมทักษะอาชีพ ให้นักเรียนได้เลือกทำตามความสมัครใจ ในลักษณะเป็นงานอดิเรกของนักเรียน หรือหากโรงเรียนใดจะใช้โอกาสนี้ในการซักซ้อมการเรียนออนไลน์หรือออนแอร์ก็สามารถทำได้เช่นกัน

ช่วงที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป 

จะเป็นในส่วนของการเปิดภาคเรียน สำหรับวิธีการจัดการเรียนการสอนจะยังคงใช้การเรียนใน 5 รูปแบบ

  1. On Site คือการเรียนที่โรงเรียน ซึ่งจะใช้ในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนที่ไม่มีการระบาดของโรค 
  2. Online คือการเรียนผ่านระบบออนไลน์ 
  3. On Air คือการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) 
  4. On Demand คือการเรียนผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ 
  5. On Hand เป็นการจัดใบงานหรือแบบฝึกหัดเป็นชุดให้นักเรียนนำไปเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยมีครูคอยติดตามผลเป็นระยะ หากโรงเรียนใดสามารถจัดการเรียนในห้องเรียนปกติได้ ให้ใช้การเรียนที่โรงเรียนเป็นฐาน (On Site) แต่หากไม่สามารถสอนในห้องเรียนได้ ให้ดูความพร้อมและความต้องการของนักเรียนเป็นสำคัญ

โดยในการเปิดเทอม สพฐ.ย้ำ มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในโรงเรียน สพฐ. ได้เน้นย้ำให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค. อย่างเคร่งครัด ซึ่งโรงเรียนทุกแห่งต้องทำการประเมินความพร้อม ให้สอดคล้องตามคู่มือการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการป้องกันโรค ตามที่ราชการกำหนด

โดยจัดสภาพแวดล้อม อาคารสถานที่ ห้องเรียน และพื้นที่ใช้สอยร่วมกัน ให้มีการเว้นระยะห่าง 1.5 เมตร ตามแนวปฏิบัติด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม อีกทั้งให้มีการกำกับ ติดตาม ประเมินผล และรายงานสถานการณ์แบบเรียลไทม์ เพื่อรับทราบข้อมูลจริงได้อย่างทันท่วงที

ส่วนการเปิดเทอมของระดับมหาวิทยาลัย หรือ อุดมศึกษา มีการเปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 โดยผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 

ระบุว่า อว. มีนโยบายให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศเริ่มเปิดเทอมตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ตามความพร้อมของแต่มหาวิทยาลัย เพื่อป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 โดยให้ใช้การสอนแบบผสมผสาน ทั้งออนไลน์และออนไซต์ตามสถานการณ์ในพื้นที่ 

หากสามารถเปิดการสอนในสถานที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด และขณะนี้ทาง อว. โดยคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) กำลังดำเนินการจัดทำมาตรฐานการศึกษาออนไลน์ เพื่อช่วยสนับสนุนให้การเรียนออนไลน์ มีมาตรฐานผลลัพธ์การเรียนรู้ ไม่แตกต่างจากการเรียนในห้องเรียนอีกด้วย

แต่สิ่งที่จะทำให้ทุกมหาวิทยาลัยสามารถเริ่มดำเนินการเรียนการสอนได้เร็วขึ้น คือ การที่บุคลากรต่างๆได้รับวัคซีน ซึ่งอธิการบดีทุกมหาวิทยาลัย ได้ลงความเห็นว่า หากอาจารย์ บุคลากร และนิสิตนักศึกษา ได้รับวัคซีนก่อนการเปิดเทอม จะสามารถสร้างความมั่นใจได้มากขึ้น และจะทำให้ประชาชนกลุ่มอื่นๆเกิดความมั่นใจในการใช้วัคซีนด้วย 

ซึ่งในส่วนของนิสิต นักศึกษานั้น ถึงแม้ว่าอายุยังไม่มากนักและมีโอกาสที่จะเกิดอาการรุนแรงได้น้อยกว่าผู้สูงอายุ แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีกิจกรรมมาก และมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อและแพร่เชื้อต่อไปในสังคมได้สูง ดังนั้น จึงควรได้รับวัคซีน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่ที่ความสมัครใจของแต่ละคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :