ม.สงขลานครินทร์เจ๋ง ตั้ง"รพ.สนามอัจฉริยะ"ความดันลบ

28 เม.ย. 2564 | 03:41 น.
อัพเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2564 | 10:56 น.

โรงพยาบาลสนาม ศูนย์ประชุมนานาชาติฯ ม.สงขลานครินทร์ จัดทำระบบความปลอดภัยทุกมิติ ปรับเป็นห้องความดันลบ  ฆ่าเชื้อในอากาศ บำบัดน้ำเสีย พร้อม wifi และสิ่งอำนวยความสะดวก มั่นใจสุด ๆ 

ม.สงขลานครินทร์ ตั้งโรงพยาบาลสนามอัจฉริยะ ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฯ ทำระบบความปลอดภัยทุกมิติ ปรับเป็นห้องความดันลบ  ฆ่าเชื้อในอากาศ บำบัดน้ำเสีย พร้อม wifi และสิ่งอำนวยความสะดวก มั่นใจสุด ๆ 

   ตรวจความพร้อมเปิดโรงพยาบาลสนาม ม.สงขลานครินทร์ ที่วางระบบความปลอดภัยทุกมิติ
ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดทำโรงพยาบาลสนาม ทั้ง 5 วิทยาเขต คือที่หาดใหญ่ ตรัง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และปัตตานี     ขณะนี้ ได้เปิดใช้แล้วที่โรงพยาบาลสนาม ทั้งวิทยาเขตหาดใหญ่ และภูเก็ต  
    

โดยที่วิทยาเขตภูเก็ต ได้ร่วมกับโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต  มีขนาด 150 เตียง ส่วนโรงพยาบาลสนามที่ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)สงขลา และศูนย์บ่มเพาะคนดี  สวนประวัติศาสตร์พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีจำนวน 80-100 เตียง  
    
สำหรับโรงพยาบาลสนาม ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยได้จัดเตรียมไว้ 200 เตียง และสามารถเพิ่มได้อีก 500 เตียง เป็น 700 เตียง โดยจัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ไว้ แบ่งเป็น 3 ช่วง ๆละ 8 ชั่วโมง มีความพร้อมด้านปลอดภัย โดยเป็นส่วนหนี่งของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ 
  คณะผู้บริหารม.สงขลานครินทร์ พร้อมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจความพร้อมเพื่อเร่งเปิดโรงพยาบาลสนามอัจฉริยะ ​​​​​​​   

ประตูทางเข้ามีระบบตรวจสอบและคัดกรองอัตโนมัติโดยไม่ต้องสัมผัสผู้ป้วย

นายแพทย์บุญประสิทธิ์ กฤตย์ประชา รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาคุณภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มั่นใจในคุณภาพความพร้อม  ขณะนี้ได้ปรับศูนย์อาหารของศูนย์ประชุมนานาชาติ ฯ เป็นโรงพยาบาลสนาม มีห้องอาบน้ำอยู่ด้านหลัง ระบบอากาศจะฆ่าเชื้อด้วยพลาสมา อากาศที่ออกจากที่นี่มั่นใจว่าปลอดภัยกับชุมชน  เชื้อโรคไม่แพร่กระจายออกไป  จะทำให้ห้องมีความดันลบคล้ายโรงพยาบาล     น้ำเสียจะได้รับการบำบัด ลงบ่อพัก แล้วค่อยปล่อยออกไป 
    

"แม้ว่าท่านจะโชคไม่ดีที่ติดเชื้อ  ระบบโรงพยาบาลสนาม จะให้ความมั่นใจในความปลอดภัยแก่ท่าน จะดูแลแบบพี่น้อง ให้ความสะดวกสบายแก่ท่าน"นายแพทย์บุญประสิทธิ์ กล่าวย้ำ
  การติดตั้งเตียงสนามเป็นไปตามหลักการควบคุมการระบาดของโรค    

คนไข้ที่เข้าการรักษาในโรงพยาบาลสนามฯ ขอให้เตรียมชุดสำหรับ 14 วัน และของใช้ส่วนตัวอื่นๆ สำหรับอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกได้แก่  ระบบปรับอากาศ   ระบบwifi  ปลั๊กไฟ  มหาวิทยาลัยจัดเตรียมไว้ให้อย่างเต็มที่
    

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าจะไม่มีปัญหา เตียงไม่พอ ในภาคใต้ระบบสาธารณสุข ในเขต 12 ภาคใต้ตอนล่าง เราเชื่อมโยงกันหมด  โรงพยาบาลสงขลานครินทร์มีห้องความดันลบหลายห้อง สามารถรองรับบคนไข้จากโรงพยาบาลอื่นๆในภาคใต้ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 12 ดูแล พื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง และคณะได้เข้าตรวจเยี่ยม และพอใจในโรงพยาบาลสนาม และขอบคุณความร่วมมือของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ติดตั้งอุปกรณ์เอกซเรย์ปอด เพื่อติดตามอาการผู้ป่วย     

ล้างและฆ่าเชื้อในห้องและท่อปรับอากาศก่อนรับผู้ป่่วย

นายแพทย์กิตติพงศ์ เรียบร้อย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์  กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เราระดมสรรพกำลัง มีการคัดกรอง เฝ้าระวัง และติดตาม  โดยโรงพยาบาลหาดใหญ่เป็นศูนย์ ทำหน้าที่กระจายและส่งผู้ป่วย  ระบบสาธารณสุขจะเชื่อมโยงประสานกันหมด  รูปแบบโรงพยาบาลสนาม จะรับคนไข้ที่มีอาการเบา  ไม่อ้วน อายุน้อย ไม่มีโรคประจำตัว  มารักษา หากมีอาการแทรกซ้อนขึ้น โรงพยาบาลสนาม จะเชื่อมโยงส่งต่อเข้าไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ทันที 
    

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 มีการซ้อมบุคลากรทางการแพทย์ทุกฝ่าย ในการเปิดให้บริการโรงพยาบาลสนาม ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฯ เพื่อให้การทำงานราบรื่น โดยจัดให้มีระบบวงจรปิด  ติดตั้งเครื่องเอ็กซเรย์  เพื่อเอ็กซเรย์ปอดคนไข้ ตั้งแต่เข้ามาทำการรักษา และระหว่างการรักษา ติดตั้งเครื่องเสียง  เพื่อสื่อสารกับผู้ป่วย ผ่านทีวีวงจรปิด ตั้งแต่การลงทะเบียน วัดความดันโลหิต และ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัส โดยได้รับความร่วมมือจากนักศึกษา และบุคลากร ของมหาวิทยาลัยทุกคณะ มาช่วยเหลือด้านการแพทย์และด้านอื่นๆ 

มีโทรทัศน์วงจรปิดและระบบคอมพิวเตอร์เก็บ-ติดตาม-ประสานข้อมูลผู้ป่วย