svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

เที่ยวรับลมหนาว ระวังตัวไรอ่อนกัด เสี่ยงโรคไข้รากสาดใหญ่

21 กุมภาพันธ์ 2564

กรมควบคุมโรค เตือนนักท่องเที่ยวที่กางเต็นท์นอนในป่า หวังรับลมหนาว ขอให้ระมัดระวังตัวไรอ่อนกัด เสี่ยงป่วยเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่ เผยปีนี้พบเกือบครึ่งของผู้ป่วยอยู่ในภาคเหนือ วิธีป้องกัน คือ สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด หลีกเลี่ยงการนั่งหรือนอนบนพื้นหญ้า และขอให้เคร่งครัดในมาตรการป้องกันโควิด 19


นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงนี้จนถึงสุดสัปดาห์ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นลงประกอบกับมีลมแรง โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงและป่าไม้ ประชาชนมักเดินทางท่องเที่ยวตามป่าเขาและกางเต็นท์นอนเพื่อสัมผัสอากาศหนาว จึงขอเตือนนักท่องเที่ยวที่เดินทางรับลมหนาวและกางเต็นท์นอนในป่า ระวังถูกตัวไรอ่อนกัด อาจเสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่ได้

สถานการณ์ของโรคไข้รากสาดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-13 กุมภาพันธ์ 2564 มีรายงานพบผู้ป่วย 240 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต ภาคเหนือเป็นภาคที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด (106 ราย) ส่วนกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อายุ 45-54 ปี รองลงมาคืออายุ 65 ปีขึ้นไป และอายุ 35-44 ปี ตามลำดับ ซึ่งพบว่าทั้งหมดเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่อาจมีการเดินทางท่องเที่ยวในลักษณะดังกล่าว

เที่ยวรับลมหนาว ระวังตัวไรอ่อนกัด เสี่ยงโรคไข้รากสาดใหญ่

โรคไข้รากสาดใหญ่” หรือ “โรคสครับไทฟัส” (Scrub typhus) เกิดจากการติดเชื้อริกเก็ตเซีย (Rickettsia) ชนิดหนึ่งจากบาดแผลที่ถูกตัวไรอ่อนซึ่งเป็นพาหะกัด ตัวไรอ่อนจะอาศัยอยู่ตามใบไม้ใบหญ้าใกล้กับพื้นดิน ไรอ่อนจะเกาะตามเสื้อผ้าของคนและกัดผิวหนังที่สัมผัสกับเสื้อผ้า โดยปกติจะมองไม่เห็นตัวไรอ่อน เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก บริเวณที่ถูกกัดส่วนใหญ่คือ รักแร้ ขาหนีบ รอบเอว หลังถูกไรอ่อนกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีอาการปวดศีรษะ มีไข้สูง หนาวสั่น ไอ ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย และบริเวณที่ถูกกัดอาจจะมีผื่นแดงขนาดเล็กค่อย ๆ นูนหรือใหญ่ขึ้น อาจจะพบแผลคล้ายบุหรี่จี้ (Eschar) แต่จะไม่ปวดและไม่คัน ผู้ป่วยบางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ อาจทำให้เสียชีวิตได้

แนะนำประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยวและกางเต็นท์นอนในป่า ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หลีกเลี่ยงการนั่งหรือนอนบนพื้นหญ้า และทาโลชั่นกันยุงที่มีส่วนผสมของสาร DEET หรือใช้สมุนไพรทากันยุงซึ่งสามารถป้องกันตัวไรอ่อนกัดได้ หลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีตัวไรอ่อนชุกชุม ไม่ว่าจะเป็นป่าโปร่ง ป่าละเมาะ บริเวณที่มีการปลูกป่าใหม่หรือตั้งรกรากใหม่ ทุ่งหญ้า ชายป่าหรือบริเวณต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง หลังออกจากป่าให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย และนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาด ด้วยผงซักฟอกเข้มข้น เพราะอาจมีตัวไรอ่อนติดมากับร่างกายหรือเสื้อผ้าได้ 
 

เที่ยวรับลมหนาว ระวังตัวไรอ่อนกัด เสี่ยงโรคไข้รากสาดใหญ่

หากมีอาการไข้และอาการข้างต้น ภายใน 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่าให้แพทย์ทราบเพื่อรับการรักษาโดยเร็ว ป้องกันการเสียชีวิต นอกจากนี้ ขอให้นักท่องเที่ยวทุกคนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 100% รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง