กทม.ลุยตรวจเชิงรุกหาผู้ป่วยโควิด-19กลุ่มเสี่ยง" โรงงาน-ตลาด-อาชีพเสี่ยง"

15 ม.ค. 2564 | 01:02 น.

กทม.ลุยตรวจเชิงรุกค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มเสี่ยงในโรงงาน ตลาด อาชีพเสี่ยง พร้อมเร่งจัดหาวัคซีนให้คนกทม.


เมื่อวานนี้ (14 มกราคม 64 )พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เป็นประธานการประชุม ศบค.กทม. ครั้งที่ 10/2564 

 

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมฯ ว่า วันนี้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีผู้ป่วยรายใหม่ 14 ราย ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลงมาจากประกาศ 10 มาตรการเร่งด่วน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่กทม. เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 63 มาตรการควบคุม 4 สถานที่เสี่ยง เพื่อป้องกัน Super Spreader ตั้งแต่ 21 ธ.ค. 63 - 15 ม.ค. 64  มาตรการปิดสถานบริการ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 63 - 4 ม.ค. 64  ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 14 เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.63 ฉบับที่ 15 เมื่อวันที่ 3 ม.ค.64 ฉบับที่ 16 เมื่อวันที่ 5 ม.ค.64 ซึ่งก่อนหน้านั้นจะเห็นว่าตัวเลขผู้ป่วยจะสูง เนื่องจากมีการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงหรือสถานบริการ 

 

ขณะนี้กรุงเทพมหานครสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญอื่นๆ ก็มีส่วนสำคัญในการพิจารณาถึงมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด เช่น การแพร่ระบาดในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ซึ่งผู้ป่วยในกรุงเทพมหานครหลายรายไม่ได้ติดโรคดังกล่าวจากพื้นกรุงเทพมหานคร แต่ติดโรคมาจากการเดินทางไปจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดหรือสถานบริการ ส่วนการตรวจเชิงรุก กรุงเทพมหานครได้ตรวจหาเชื้อ 10,090 ตัวอย่าง โดยวิธีการ SWAB 1,090 ราย และการตรวจน้ำลาย 8,981 ราย และจะเร่งดำเนินการตรวจเชิงรุกอย่างต่อเนื่องให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้กองทุนประกันสังคม ได้อนุมัติให้กรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีความเสี่ยง ได้รับโควตาการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในโรงงาน ในตลาด และอาชีพเสี่ยงต่างๆ

 

โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องวัคซีนที่จะนำมาฉีดให้กับประชาชนนั้น นายกรัฐมนตรีได้ย้ำอย่างชัดเจนว่าคนไทยทุกคนจะต้องได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งการควบคุมโรคเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยผู้ที่จะได้รับวัคซีนก่อนจะเป็นบุคลาการทางการแพทย์ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการควบคุมโรค เพราะเป็นบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย 

 

ส่วนผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนนั้น ทางการแพทย์อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันว่าจะเลือกใช้วัคซีนชนิดใด หรือสามารถใช้วัคซีนแต่ละชนิดร่วมกันได้ ปัญหาสำคัญไม่ใช่เกิดจากงบประมาณ หากรัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบประมาณให้ กรุงเทพมหานครก็เห็นถึงความจำเป็นและพร้อมที่จะใช้งบประมาณที่มีอยู่ เพราะคำนึงถึงชีวิตของคนสำคัญเสมอ 

 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากแต่ละประเทศมีความต้องการวัคซีนเหมือนกัน เมื่อความต้องการมีมาก แต่การผลิตมีน้อย จึงต้องใช้ระยะเวลาในการสั่งซื้อ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงสำนักอนามัย สำนักการแพทย์ กทม.ได้พูดคุยเจรจาเพื่อหาทางในการนำเข้ามาก่อน โดยพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้วัคซีนมาโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้จะต้องเป็นวัคซีนที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุด เพื่อประชาชนชาวกรุงเทพมหานครและคนไทยทุกคน

 

 

กทม.ยันเก็บค่าตั๋ว 65 บาท ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ 16 ม.ค.

เช็กไทม์ไลน์"ผู้ติดเชื้อโควิด"กทม.เพิ่มเติมอีก 20 ราย

"เทศบาลแสนสุข" เตรียมจัดสรรงบซื้อวัคซีน"โควิด-19"

"รปช." วอน รัฐฉีดวัคซีนโควิดให้ อสม.-จนท.ปฏิบัติงานใกล้ชายแดนก่อน

คลายข้อสงสัย ดาวน์โหลดแอป “หมอชนะ” แล้วได้อะไร