ครม.เคาะจ่ายค่าจ้าง 50% ให้ผู้ประกันตนว่างงานจากผลกระทบโควิด

22 ธ.ค. 2563 | 07:48 น.

ครม.เคาะจ่ายค่าจ้าง 50% ให้ผู้ประกันตนวางงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมอนุมัติลดจ่ายเงินค่าสมทบสำหรับลูกจ้างและนายจ้างเหลือร้อยละ 3 เป็นระยะเวลา 3 เดือน ( มกราคม – มีนาคม 2564) และการจ่ายเงินเด็กแรกเกิดจาก 600 บาท เป็น 800 บาท และค่าคลอดบุตร จาก 13,000 บาท เป็น 15,000 บาท

 

วันที่ 22 ธ.ค. 63 เวลา 14.20 น. นางสาวรัชดา ธนาดิเรก โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบร่างกฎกระทรวงแรงงาน โดยให้มีผลวันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป เพื่อรองรับสถานการณ์การการระบาดของโควิด 19 ที่ทำให้แรงงานที่เป็นผู้ประกันตนต้องหยุดงาน และผู้ประกอบการไม่สามารถเปิดกิจการได้

 

ซึ่งเดิมรัฐบาลได้ให้กองทุนประกันสังคม จ่ายค่าจ้างในอัตรา 62% ของค่าจ้าง ให้กับผู้ว่างงานก่อนหน้านี้ ช่วงวันที่ 1 มีนาคม - -31 สิงหาคม 2563  วันนี้ครม.จึงมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง แรงงานอีกครั้ง เพื่อรองวับเหตุสุดวิสัยจากโควิด19 ที่ทำให้ผู้ประกันตนทำงานไม่ได้ และนายจ้างไม่สามารถประกอบการได้ตามปกติ  โดยลูกจ้างมีสิทธิ์รับค่าจ้าง 50% ของอัตราค่าจ้าง ตลอดระยะเวลาที่สั่งปิดพื้นที่ โดยภายใน 1 ปี ปฏิทินแต่ไม่เกิน 90 วัน 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม.อนุมัติ เพิ่ม "เงินสงเคราะห์บุตร" เป็น 800 บาท/เดือน เริ่ม 1 ม.ค. 64 

ซึ่งกระทรวงแรงงานคาดว่าจะช่วยบรรเทาความเเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่เสี่ยงปิดพื้นที่ เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นครปฐม นนทบุรี และกทม. คาดว่าจะมีประมาณจำนวน 5.7 ล้านคน คิดเป็นเงินจากกองทุนประกันสังคมกว่า 5 พันล้านบาท เป็นการให้ความมั่นใจว่าถ้ามีการปิดกิจการชั่วคราวก็พร้อมดูแลเยียวยาจากสถานการณ์โควิด

 

 

นอกจากนี้ครม.ยังเห็นชอบกฎกระทรวงอีก 2 ฉบับ ในเรื่องของการลดจ่ายเงินค่าสมทบสำหรับลูกจ้างและนายจ้างจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 3 เป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือ มกราคม – มีนาคม 2564 และการจ่ายเงินเด็กแรกเกิดจาก 600 บาท เป็น 800 บาท และค่าคลอดบุตร จาก 13,000 บาท เป็น 15,000 บาท

 

สำหรับร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญคือ 

 

1.กำหนดให้กฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป

 

2.กำหนดนิยามคำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายถึง ภัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชน และถึงขณะที่ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ 

 

3.กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยและหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตราย อันส่งผลให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ให้ลูกจ้างดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ตามมติคณะกรรมการประกันสังคม โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่สั่งปิดพื้นที่ ทั้งนี้ ภายในระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนดังกล่าวทุกครั้ง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 90 วัน

 

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการประเมินสถานการณ์ของกระทรวงแรงงาน ร่างกฎกระทรวงนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่อยู่ในสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่รัฐบาลสั่งปิดกิจการ โดยในเบื้องต้นคาดว่ามีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ อาทิ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี และสมุทรสงคราม รวมกันแล้วประมาณ 5.7 ล้านคน คิดเป็นเงินกว่า 5,225 ล้านบาท