ธรรมนูญครอบครัว กฎในบ้านที่ควรเข้าใจ (Prelim)

15 ธ.ค. 2563 | 21:09 น.

ธุรกิจกงสีในประเทศไทย  หลายครอบครัวคงเคยประสบปัญหามาแล้วทั้งนั้น เมื่อธุรกิจเริ่มขยาย และมีคนในครอบครัวหลายคนเข้ามาเกี่ยวข้อง ปัญหาในการจัดการผลประโยชน์ เราจะมีวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกันอย่างไร

 

เช้าวันหนึ่ง น้องที่รู้จักกันโทรศัพท์มาปรึกษาเรื่องในครอบครัว เธอเป็นพี่สาวคนโตในบรรดาพี่น้อง 4 คน ครอบครัวทำธุรกิจส่งออกอาหารทะเล น้องชายคนโตกำลังจะแต่งงาน และน้องสะใภ้จะเข้ามาช่วยทำธุรกิจในครอบครัวด้วย ประเด็นอยู่ที่คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจ และลูกๆ ช่วยกันเข้าไปบริหาร ที่ผ่านมาทุกคนได้รับการแบ่งสรรรายได้และทรัพย์สินจากคุณพ่อคุณแม่อย่างเท่าเทียมกัน แต่เมื่อน้องชายแต่งงาน และมีสะใภ้เข้ามาช่วยงานในธุรกิจ แล้วจะจัดสรรกันอย่างไร? แล้วถ้าน้องสาว น้องชาย รวมทั้งเธอ แต่งงาน มีคู่สมรสของแต่ละคนมาช่วยงานในธุรกิจของครอบครัว จะต้องจัดสรรผลประโยชน์อย่างไรถึงจะยุติธรรมที่สุด

 

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ สำหรับธุรกิจกงสีในประเทศไทย เพราะหลายครอบครัวประสบปัญหาเหล่านี้มาแล้วทั้งนั้น เมื่อธุรกิจเริ่มขยาย และมีคนในครอบครัวหลายคนเข้ามาเกี่ยวข้อง ปัญหาในการจัดการผลประโยชน์จะส่งผลกระทบต่อสายสัมพันธ์ภายในครอบครัว แล้วเราจะมีวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกันอย่างไร

 

ผู้อ่านหลายท่านอาจจะเคยได้ยินคำว่า “ธรรมนูญครอบครัว” กันมาบ้างแล้ว แต่ไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร และใช้งานอย่างไร วันนี้เราจะมาขยายความเรื่องนี้กันให้เข้าใจ ด้วยภาษาง่ายๆ

 

ธรรมนูญครอบครัว” (Family Constitution) คือ ข้อตกลงในบ้านที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวมีส่วนร่วมในการกำหนด และยึดถือปฏิบัติตาม เสมือนสัญญาใจของครอบครัว เป็นการวางรากฐานเบื้องต้นให้กับครอบครัวที่ดำเนินธุรกิจร่วมกัน เพื่อลดข้อขัดแย้งและปัญหาในเรื่องต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นภายในครอบครัว นอกจากนี้ข้อตกลงดังกล่าวควรมีการทบทวน และปรับปรุงอยู่เสมอ กฎในบ้านนี้ควรประกอบด้วยเรื่องอะไรบ้าง เช่น

 

1.โครงสร้างภายในครอบครัว ควรกำหนดสมาชิกที่อยู่ภายใต้กฎบ้านให้ชัดเจน

2.แนวทางการดำเนินชีวิต กติกามารยาทในการอยู่ร่วมกันภายในครอบครัว

3.แนวทางและวิธีการจัดสรรผลประโยชน์ให้ชัดเจน และเหมาะสม

4.หลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการสืบทอดธุรกิจของทายาท

5.นโยบายในการลงทุน การบริหารสินทรัพย์ของครอบครัว และการจัดสรรให้แก่สมาชิก
 

ประเด็นสำคัญก่อนที่จะจัดทำธรรมนูญครอบครัว ผู้เขียนขอแนะนำให้ดำเนินการทำสัญญาผู้ถือหุ้น และข้อบังคับบริษัทให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งเป็นการตกลงในเงื่อนไขในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเท่านั้น อีกทั้งสัญญาผู้ถือหุ้น และข้อบังคับบริษัทดังกล่าวยังมีผลผูกพันในทางกฎหมาย จึงควรจัดทำให้เรียบร้อยก่อนเป็นสิ่งแรก หลังจากนั้นจึงค่อยจัดทำธรรมนูญครอบครัว โดยขนาดของครอบครัวก็เป็นเรื่องสำคัญ จึงควรรีบจัดทำในขณะที่สมาชิกในครอบครัวยังมีจำนวนน้อยอยู่ เพราะจะสามารถหาข้อสรุปในข้อตกลงต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็ว

 

การเขียนธรรมนูญครอบครัวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สมาชิกในครอบครัวต้องเปิดใจร่วมกันในทุกๆ เรื่อง รวมทั้งมีรายละเอียดปลีกย่อยจำนวนมาก ผู้เขียนจึงจะขอพูดถึงในบทความถัดไป

 

โดย สุนิดา เทียนประเสริฐ นักวางแผนการเงิน CFP®