ศิริราชเตือนโควิดจากเมียนมาเป็น “สายพันธุ์G”  แพร่กระจายไวขึ้น 20%

08 ธ.ค. 2563 | 09:24 น.

คณบดีศิริราช แถลงเตือนว่า ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดอยู่ในเมียนมาและก่อให้เกิดโรคระบาดโควิด-19 ในเวลานี้ เป็นสายพันธุ์ G ซึ่งแพร่กระจายไวกว่าเดิม 20% 

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล แถลง สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และ การผลิตวัคซีนป้องกัน ในวันนี้ (8 ธ.ค.) ว่า จากการ ถอดบทเรียนการระบาดของโควิด-19 ในเมียนมา ที่พบว่า มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจากวันแรกที่ตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 ในเมียนมา วันที่ 23 มี.ค. มาจนถึงวันที่ 6 ธ.ค.2563 จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 200 เท่า และแพร่กระจายไปพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว

 

สาเหตุหลักเป็นเพราะการตามสอบสวนโรคในประชาชนที่เดินทางจากพื้นที่ระบาดทำได้น้อยกว่า 50% อีกทั้งสายพันธุ์เชื้อไวรัสโคโรน่าที่แพร่ในเมียนมาขณะนี้ ก็เป็น สายพันธุ์ G614 ตัวเดียวกับที่พบแพร่ระบาดในประเทศแถบตะวันตกและทั่วโลก ซึ่งเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้สามารถเพิ่มจำนวนได้เร็วขึ้น 20% ทำให้แพร่ได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิมที่มาจากเมืองอู่ฮั่น คือสายพันธุ์ D614

  ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การที่มีคนไทยลักลอบกลับจากประเทศเมียนมาเข้ามาประเทศไทย และปกปิดข้อมูลจึงเป็นอันตรายกับตัวเอง คนในครอบครัว สังคม และบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแล ซึ่งสถานการณ์ไทยวันนี้ทำให้เห็นว่า จุดอ่อนแม้เพียงจุดเดียว อาจส่งผลมหาศาลต่อประเทศและส่งผลกระทบเชิงลบให้กับสังคม จึงขอความร่วมมือคนไทยยกการ์ดขึ้นสูง ใช้วัคซีนที่เรามี คือ การปฏิบัติตามคำแนะนำ สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด ให้ความร่วมมือลงทะเบียนเข้า-ออกเมื่อใช้สถานที่ ช่วยกันแนะนำคนรู้จักให้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง เพื่อให้ป้องกันโควิดได้ทันทีโดยไม่ต้องรอวัคซีนที่ยังต้องใช้เวลาอีกนานไม่ต่ำกว่าครึ่งปีกว่าจะได้ใช้

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ มี 3 ปัจจัยที่น่าเป็นห่วง คือ

1.อากาศเย็น ทำให้คนอยู่ในอาคารซึ่งเป็นพื้นที่ปิดและไม่สวมหน้ากากมากขึ้น

2.ชายแดน มีการแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น ทั้งเมียนมา และมาเลเซีย โดยเฉพาะคนที่ลักลอบเข้ามาเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการระบาดได้

และ 3.การชุมนุมต่าง ๆ แต่อยากให้เข้าใจและย้ำเตือน เพราะไม่มีใครชนะหากเกิดการระบาดขึ้น จึงอยากขอให้หลีกเลี่ยง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รู้จักวัคซีน AZD1222 ของแอสตร้าเซนเนก้า ที่ไทยเลือกใช้

ฟิลิปปินส์-ไทย ลงนามจองซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า คาดได้ฉีดกลางปี 64

อังกฤษประเดิมฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เข็มแรกให้ประชาชนแล้ว

 

ในส่วนของโรงพยาบาลขณะนี้ทุกแห่งได้เตรียมการรับมือแล้ว แต่ก็หวังจะไม่เกิดการระบาดรุนแรง ส่วนความคืบหน้าด้านการผลิตวัคซีน ล่าสุดบริษัทต่าง ๆ ที่ผลิตใน 2 ล็อตแรกถูกจองหมดแล้ว สำหรับประเทศไทยที่มีข้อตกลงกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า หากไทยได้รับข้อมูลองค์ความรู้มาเมื่อไหร่ ก็จะต้องผ่านกระบวนการผลิตอีก 4 เดือน และต้องผ่านการตรวจสอบจาก อย.อีก 3 รอบ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน คาดว่าจะได้ฉีดครั้งแรกหลังเดือน พ.ค. ปีหน้า (2564)