นายกฯ ยันคนไทยได้ใช้วัคซีนราวกลางปี 64 วอนการ์ดอย่าเพิ่งตก

26 พ.ย. 2563 | 23:09 น.

ไทยเตรียมลงนามในข้อตกลงจองซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 จากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าในวันนี้ (27 พ.ย.) นายกฯ แถลงมั่นใจรัฐบาลพร้อมบริหารจัดการการผลิตและกระจายวัคซีนแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ   

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวแถลงวานนี้ (26 พ.ย.) ถึง แนวทางของประเทศไทยในการบริหารจัดการกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ว่า ขณะนี้ไทยกำลังเตรียมตัวสำหรับเฟสถัดไป เพื่อไม่ให้โรคร้ายนี้สร้างปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง และสร้างความยากลำบากในความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยไปมากกว่านี้ ซึ่ง วิธีจัดการกับวิกฤตโควิดในระยะยาว คือ การมีวัคซีนป้องกัน และจะต้องกระจายไปยังประชาชนให้ได้อย่างทั่วถึง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

พล.อ. ประยุทธ์เผยว่า ปัจจุบัน มีการพัฒนาวัคซีนที่มีความเป็นไปได้ว่าจะประสบความสำเร็จ ซึ่ง 3-4 กลุ่ม อยู่ในขั้นตอนที่ก้าวหน้าไปมากแล้ว โดยกำลังทำการทดสอบความปลอดภัยในการใช้ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้ได้จริง

 

“อย่างไรก็ดี เรารู้ว่าประเทศใหญ่ๆ ในโลกต่างพยายามล็อกคิว เพื่อที่จะได้ใช้วัคซีนเป็นประเทศแรกๆ ทันทีที่วัคซีนได้รับการยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัย แล้วผลิตเสร็จออกมา ซึ่งประเทศไทยสมควรที่จะได้รับโอกาสนั้นด้วย คือการเข้าถึงวัคซีนอย่างรวดเร็วและเพียงพอ เพราะการได้วัคซีนมาใช้นั้น ยิ่งเร็วเท่าไร ก็ยิ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติได้เร็วขึ้นด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าว และว่า นั่นเป็นเหตุผลที่เมื่อ 2-3 เดือนก่อน รัฐบาลไทยได้ตัดสินใจเดินหน้าหาพันธมิตร เพื่อการผลิตวัคซีนในประเทศไทยให้ได้ ไม่ใช่เพียงแค่ไปเข้าคิวรอซื้อจากการผลิตในประเทศอื่นเพียงอย่างเดียว

 

“เราต้องเลือกจับมือกับพันธมิตรที่มีศักยภาพที่น่าจะมีโอกาสทำสำเร็จได้จริงอย่างรวดเร็ว" นายกรัฐมนตรีกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟิลิปปินส์-ไทย ลงนามจองซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า คาดได้ฉีดกลางปี 64

รู้จักวัคซีน AZD1222 ของแอสตร้าเซนเนก้า ที่ไทยเลือกใช้

นายกฯเตรียมเป็นประธานพิธีลงนามจอง-ซื้อวัคซีนโควิด 27 พ.ย.นี้

 

ทั้งนี้ เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ความพยายามของไทยประสบความสำเร็จ ซึ่งนอกจากไทยจะได้ลงนามข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อผลิตวัคซีนในประเทศไทยหากการพัฒนาวัคซีนสำเร็จลุล่วงแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการ คือประเทศไทยยังจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนนี้ด้วย และในวันศุกร์นี้ (27 พ.ย.) จะมีการลงนามเพิ่มเติมในอีกหนึ่งข้อตกลง เพื่อสั่งซื้อวัคซีนดังกล่าว

"เราได้รับทราบข่าวดีว่า ทีมมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนแล้ว ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดได้ถึง 70-90% อยู่ในระดับที่ดีมาก นอกจากนั้น วัคซีนที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าพัฒนาขึ้น จะสามารถผลิตออกมาได้ในราคาที่ถูกกว่าหากเทียบกับวัคซีนของที่อื่น ๆ และสำคัญมากกว่านั้น คือวัคซีนนี้ มีความเหมาะสมกับประเทศไทยมากกว่า เพราะในขณะที่วัคซีนของที่อื่น ๆ จำเป็นต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิ -20 ถึง -70 องศาเซลเซียสตลอดเวลา ต้องใช้ตู้แช่เย็นที่ออกแบบพิเศษโดยเฉพาะ ทำให้มีข้อจำกัดทางด้านการขนส่งที่จะทำได้อย่างยากลำบากมาก แต่วัคซีนนี้ สามารถเก็บรักษาได้ไม่ยาก ในตู้เย็นธรรมดา ณ อุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส สามารถขนส่งเพื่อกระจายวัคซีนไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทุกจังหวัดของไทยเราได้อย่างทั่วถึงและไม่ยุ่งยาก" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

พร้อมคาดว่า วัคซีนนี้จะได้รับการอนุญาตให้ใช้ได้ และผลิตได้ในช่วงกลางปี 2564 ซึ่งหากเร่งขั้นตอนต่าง ๆ ได้ยิ่งเร็วเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้ไทยสามารถเปิดรับคนจำนวนมากเข้าประเทศได้ และสามารถเริ่มสร้างฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาอีกครั้ง โดยขณะนี้ รัฐบาลกำลังพิจารณาวางแผนกระบวนการ และขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อเตรียมการสำหรับการกระจายวัคซีนไปให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ของประเทศ ให้ได้อย่างรวดเร็วทันทีที่ไทยได้วัคซีน

 

"แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้น ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่ช่วงเทศกาลต่าง ๆ ผมขอให้พี่น้องชาวไทยทุกคน ผู้ที่ได้ร่วมมือ ร่วมใจ เสียสละความสะดวกสบายส่วนตัว ในการยับยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา ได้ช่วยกันอีกครั้งเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิตของผู้คน และบรรเทาไม่ให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจจนหนักหนาสาหัสในประเทศไทย เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว ในหลายประเทศทั่วโลก ผมขอให้พวกเราทุกคนยังคงรักษาวินัย ใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และรักษาระยะห่างทางสังคม ขอให้ทุกคนช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในประเทศไทย เพื่อไม่สร้างความทุกข์ยากให้กับประเทศรุนแรงกว่าที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน" นายกรัฐมนตรีกล่าวในท้ายที่สุด