เปิดแผนสกัดฝุ่นละออง PM2.5

17 พ.ย. 2563 | 03:32 น.

เจาะลึกแผนการรับมือ - มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 พร้อมวิธีการตรวจเช็กคุณภาพอากาศด้วยตนเอง

เข้าสู่ช่วงหน้าหนาว ปัญหาเรื่องหมอกควัน-ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ก็จะเริ่มมาเยือนกันอีกระลอก วันนี้"ฐานเศรษฐกิจ"จึงตรวจสอบแผนงานของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องว่าได้ดำเนินมาตรการป้องกันหรือมีแผนรับมือกันอย่างไรบ้าง 


เริ่มกันที่ กทม. ที่ในวันนี้ (17 พ.ย. 2563) กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เรียกประชุม“การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เพื่อรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และนำมากำหนดเป็นแนวทางการป้องกันปัญหาฝุ่น


ในส่วนของกทม. ยังได้เริ่มรับบริจาคแผ่นกรองอากาศ และพัดลมจากเพื่อนำประยุกต์เป็นเครื่องกรองฝุ่นใช้ในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร 292 แห่ง รวมกว่า 2,500 ชั้นเรียน และดำเนินมาตรการควบคุมสถานที่ก่อสร้าง การกวดขันรถยนต์และรถบรรทุกต่างๆ ซึ่งได้ประสานกรมการขนส่ง กองบังคับการตำรวจจราจร และกองบัญชาการตำรวจนครบาลไปแล้ว เพื่อให้การป้องกันปัญหาครอบคลุมทุกมิติ และลดผลกระทบให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด


นอกจากนั้นแล้วในแต่ละสัปดาห์ กทม.ก็จะมีการทำความสะอาดฉีดล้างผิวการจราจร ทางเท้า สะพานลอยคนข้าม ,เช็ดทำความสะอาดป้ายรถเมล์ จุดสัมผัสร่วมต่างๆบริเวณพื้นที่สาธารณะ ฉีดล้างลดฝุ่นไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น โดยจะกระจายไปตามเขตต่างๆ
 

การทำความสะอาดเพื่อลดปริมาณฝุ่น PM2.5

ขณะที่มาตรการก่อนหน้าที่กทม.ได้ประกาศออกมาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบไปด้วย ระยะเร่งด่วน และระยะยาว โดยส่วนแรกคือระยะเร่งด่วน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ธ.ค. 63 – ก.พ. 64   ประกอบไปด้วย ขอความร่วมมือรถ 6 ล้อขึ้นไปทั้งหมด ห้ามเข้าเขตกทม. ตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม  ,เข้มงวดการตรวจวัดควันดำรถยนต์ , เข้มงวดตรวจโรงงานที่ปล่อยควันที่ปล่องระบาย ขอความร่วมมือและงดกิจกรรมก่อสร้างที่ก่อให้เกิดฝุ่น,ควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะและเผาในที่โล่ง


ส่วนมาตรการระยะยาว จะสนับสนุนบริการขนมวลชนส่งสาธารณะ ทำให้คนทั่วไปลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ เพื่อช่วยให้รถติดน้อยลง ลดจำนวนมลพิษที่ปล่อยออกมาจากท่อให้เสียรถยนต์ส่วนตัวให้ได้มากที่สุด

เปิดแผนสกัดฝุ่นละออง PM2.5

ทั้งนี้บริการขนส่งสาธารณะที่ กทม. รับผิดชอบ คือ BTS ได้เปิดให้บริการแล้ว 20 สถานี มีผู้ใช้บริการ 233,000 คน/วัน และสิ้นปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 8 สถานี  และมีเป้าหมายจะขยายโครงข่ายการบริการให้ได้ครอบคลุมและมากที่สุด รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการขนส่งมวลสาธารณะได้ง่ายยิ่งขึ้น ให้คนหันมาใช้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะมากยิ่งขึ้น


เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อช่วยฟอกฝุ่น โดยในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา กทม. ได้เพิ่มพื่นที่สีเขียวแล้วมากกว่าห้าล้านตารางเมตร และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อไปให้ได้อย่างน้อยปีละ 550 ไร่ทุกปี 
 

ถือเป็นแผนการรับมือของกทม. ขณะที่ในภาพรวม-ภาพใหญ่ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 16 พ.ย. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ นำโดย นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ก็ได้เปิดศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) จัดตั้งโดยคณะอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ 


โดยศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ จะทำหน้าที่เป็นศูนย์บูรณาการประสานงานรวบรวมข้อมูลจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน ในรูปแบบ One Voice One Team และจะนำเสนอที่ประชุม ครม. เพื่อรับทราบ


นอกจากนั้นแล้ว ยังได้เตรียมแผนการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ได้วางแนวทางการดำเนินงาน 12 ข้อ ได้แก่ 1) การสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 2) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ภายคณะกรรมการคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ 3) การบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า 


4) สร้างเครือข่าย อาสาสมัคร และจิตอาสา เป็นกลไกหลักเข้าถึงพื้นที่ ทั้งสื่อสาร ติดตามเฝ้าระวัง และดับไฟ  5) เร่งขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า ภายใต้ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 6) เร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่าให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม 7) การพยากรณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้า 3 วัน เพื่อแจ้งเตือนประชาชน 


8) ประยุกต์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในการรายงานปริมาณฝุ่นละอองเชิงพื้นที่  9) พัฒนาระบบคาดการณ์ และระบบสนับสนุนการตัดสินใจ รวมถึงการพัฒนาและใช้งาน Application บัญชากาการดับไฟป่า 10) บริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยใช้ Application ลงทะเบียนจัดการเชื้อเพลิง 11) ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลป่าไม้ และลดการเผาป่า ผ่านการจัดที่ดินทำกิน และ 12) เจรจาสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งระดับอาเซียน ระดับทวิภาคี และระดับพื้นที่ชายแดน


ถือเป็นนโยบายภาพใหญ่ๆทั้งของกทม.และของทั่วประเทศ ที่เตรียมแผนงานรับมือกับ PM2.5 ขณะที่ภาคประชาชนเอง ก็มีวิธีการรับมือ อาทิ  ใส่หน้ากาก ซึ่งตามปกติก็ใส่เพื่อป้องกันโควิด -19 กันอยู่แล้ว หรือหากอยากจะเช็กข้อมูลคุณภาพอากาศประจำวันของประเทศไทยผ่านก็ทำได้ โดยคลิกไปที่ www.bangkokairquality.com หรือ แอดไลน์  LINE Official Account : AirBKK 

หรือจะการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน AIRBKK ก็ทำได้ไม่ยาก 

สำหรับ iOS เวอร์ชั่น 2.2.7   https://apps.apple.com/th/app/airbkk/id1499044046?l=th
แอนดรอยด์ เวอร์ชั่น 2.2.6   https://play.google.com/store/apps/details?id=com.airbkk


หรือจะติดตั้งแอปพลิเคชัน Air4thai ก็ทำได้ โดยจะรายงานข้อมูลผลการตรวจวัดได้ทั้งค่ารายชั่วโมงและค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง รวมไปถึงเช็กผ่าน  https://www.facebook.com/airpollution.CAPM ที่จะงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพ​อากาศตลอดทั้งวัน 

 

รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพ​อากาศ