เปิดข้อมูล "พายุโคนี"และ"พายุลูกใหม่" อัสนี กระทบไทยมากน้อยแค่ไหน

04 พ.ย. 2563 | 09:45 น.

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เผย "พายุโคนี" และ "พายุลูกใหม่" อัสนี กระทบไทยไม่มาก อาจมีผลทำให้ฝนตกเพิ่มเล็กน้อยถึงปานกลาง พร้อมประเมินสถานการณ์พายุในภาคใต้เดือนพ.ย. -ธ.ค. ซึ่งถือว่าเข้าสู่หน้าฝน เตรียมสั่งการทุกหน่วยงานกางแผนรับมือ

วันที่ 4 พ.ย.63  นายสำเริง  แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านการประเมินสถานการณ์น้ำภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เพื่อประเมินสถานการณ์ผลกระทบจาก "พายุโคนี" และ "พายุอัสนี” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น


เบื้องต้นพบว่าพายุทั้งสองลูกจะไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรง แต่อาจจะส่งผลให้มีฝนตกเพิ่มเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณลำน้ำมูล ภาคตะวันออก ภาคกลางและภาคตะวันตกของไทยในบางส่วนเท่านั้น ซึ่ง กอนช.จะมีการติดตามประเมินปริมาณฝนที่อาจจะส่งผลในบางพื้นที่อย่างใกล้ชิด


อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีหารือแนวโน้มปริมาณฝนและคาดการณ์แนวโน้มการเกิดพายุในพื้นที่ภาคใต้ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ซึ่งต้องมีการติดตามสถานการณ์พายุที่จะเกิดขึ้นซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมถึงพื้นที่เสี่ยงประสบปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม
 

 

อ่านข่าวที่เกียวข้อง

"พายุโคนี" กระทบ 12 จังหวัดรับมือฝนตก-ลมแรงวันที่ 6-7 พ.ย.นี้ 

กรมอุตุฯประกาศพายุ "โคนี" ฉบับ 6 เคลื่อนขึ้นฝั่งเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม

ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 5 พายุโซนร้อน "โคนี" จ่อขึ้นฝั่งเวียดนามพรุ่งนี้ ภาคอีสานมีฝน-ลมแรง

อัพเดท เส้นทาง"พายุโคนี" 4-6 พ.ย.

ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ การเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน ระบบการแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ แก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมถึงสร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อพร้อมรับสถานการณ์ล่วงหน้า


รวมถึงหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการย่อยตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้งปี 2563/64 ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการประเมินน้ำต้นทุนที่มีอยู่เพื่อวางแผนการใช้น้ำอย่างชัดเจนและเป็นไปตามแผน