แนะคนรายได้ไม่เกิน 5 แสนต่อปี ลงทะเบียน “คนละครึ่ง” ชิงสิทธิ์ 3000 ด่วน

16 ต.ค. 2563 | 05:33 น.

โครงการ “คนละครึ่ง’ ประชาชนแห่ลงทะเบียน คึกคัก ครึ่งวัน จองสิทธิ์แล้วกว่า 3.5 ล้านคน แนะกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 5 แสนบาทควรรีบลงทะเบียนชิงสิทธิ์ 3,000

กรณีที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารกรุงไทย ได้เปิดลงทะเบียนโครงการ “คนละครึ่ง” เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยจะเปิดให้ประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ลงทะเบียนผ่าน www.คนละครึ่ง.com ในวันนี้(16 ต.ค.) เมื่อเวลา 6.00 น. เป็นวันแรก โดยมีเงื่อนไขว่า หากได้รับสิทธิ์และมีการใช้สิทธิ์โครงการคนละครึ่ง จะไม่ได้รับสิทธิในการเข้าร่วมมาตรการช้อปดีมีคืน ที่กำหนดให้สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีสูงสุดได้ 30,000 บาทได้

 

ล่าสุด ณ เวลา 12.13 น. มีผู้ลงทะเบียนคนละครึ่งแล้ว 3,501,024 สิทธิ์ จากที่รัฐบาลกำหนดสิทธิ์ทั้งหมด 10 ล้านสิทธิ์ คงเหลือสิทธิ์ 6,498,976 สิทธิ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อาคม เผย นายกสั่งประชาสัมพันธ์โครงการคนละครึ่งเพิ่ม

ลงทะเบียนคนละครึ่ง​ เปิด 9 ขั้นตอนติดตั้ง “แอปเป๋าตัง”

เช็กด่วน www.คนละครึ่ง.com ลงทะเบียนรับสิทธิ์ 3,000 บาท ได้แล้ว

อย่างไรก็ตามหลายคนสงสัยว่าระหว่างการลงทะเบียนคนละครึ่ง กับใช้สิทธิ์ในมาตรการช้อปดีมีคืน อย่างไหนจะคุ้มค่ามากกว่ากัน ฐานเศรษฐกิจ จึงขอสรุปให้เข้าใจแบบง่ายๆดังนี้

 

มาตรการช้อปดีมีคืน หลายคนเข้าใจว่าเมื่อซื้อสินค้า 30,000 ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดแล้วจะได้คืนภาษี 30,000 บาท ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะเงินภาษีจะได้คืนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเงินได้และอัตราภาษีที่แต่ละคนจะต้องจ่ายด้วย โดยข้อเท็จจริงการให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท

 

เมื่อคำนวณจากเงินได้สุทธิต่อปี อัตราภาษีที่ผู้เสียภาษีแต่ละคนต้องจ่าย พบว่าผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่ละกลุ่มจะมีสิทธิ์ได้คืนภาษีจากมาตรการช้อปดีมีคืน สูงสุดดังนี้

  • เงินได้สุทธิต่อปี 0-150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ได้สิทธิ์คืนภาษี
  • เงินได้สุทธิต่อปี 150,001-300,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 5% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 1,500 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี 300,001-500,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 10% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 3,000 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี 500,001-750,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 15% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 4,500 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 20% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 6,000 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 25% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 7,500 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 30%สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 9,000 บาท
  • เงินได้สุทธิต่อปี 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษีเงินได้ 35% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 10,500 บาท

 

ดังนั้นผู้ที่มีเงินสุทธิต่อปีไม่เกิน 500,000 บาท จึงเป็นกลุ่มที่ควรลงทะเบียนคนละครึ่งมากกว่าการใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีจากช้อปดีมีคืน ส่วนผู้ที่มีเงินได้ต่อตั้งแต่ 5000,000 บาท ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจว่าจะเลือกใช้สิทธิ์ในโครงการไหน

 

นายพรชัย  ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าของการลงทะเบียนรับสิทธิโครงการคนละครึ่งของประชาชน ที่เปิดให้ลงทะเบียนวันนี้เป็นวันแรก ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ณ เวลา 13.00 น. มีประชาชนลงทะเบียนแล้วจำนวน 3,800,803 คน โดยประชาชนที่สนใจยังสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ต่อเนื่องทุกวันในช่วงเวลา 06.00 - 23.00 น. จนกว่าจะครบ 10 ล้านคน 

ผู้ที่ลงทะเบียนและยืนยันตัวตนสำเร็จแล้วจะเริ่มใช้จ่ายกับร้านค้าที่ติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 ระหว่างเวลา 06.00 น. – 23.00 น. โดยต้องเริ่มใช้จ่ายภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ตนได้รับ SMS แจ้งรับสิทธิ หรือวันที่เปิดให้เริ่มใช้จ่ายตามโครงการ มิเช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิและไม่สามารถลงทะเบียนได้อีก เช่น ได้รับ SMS ระหว่างวันที่ 16 - 23 ตุลาคม 2563 ต้องใช้สิทธิภายในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้น


สำหรับวิธีการใช้จ่ายกับร้านค้า ท่านสามารถเติมเงินโดยการโอนเงินของท่านไปยังแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้ตามต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องโอนครั้งเดียว 3,000 บาท เช่น หากท่านต้องการจ่ายค่าอาหาร 200 บาท ท่านต้องมีเงินใน “เป๋าตัง” อย่างน้อย 100 บาท เพื่อสแกนจ่ายเงินกับร้านค้า “ถุงเงิน” 


โดยรัฐจะช่วยจ่ายให้ร้านค้าอีก 100 บาท หรือหากท่านจะใช้จ่ายค่าสินค้าจำนวน 400 บาท รัฐจะร่วมจ่ายให้ร้านค้า 150 บาท และท่านต้องมีเงินใน “เป๋าตัง” เพื่อสแกนจ่ายเงินอีกอย่างน้อย 250 บาท ทั้งนี้ ภาครัฐจะร่วมจ่ายไม่เกิน 3,000 บาท ตลอดระยะเวลาโครงการ