รุกจัดสวัสดิการชาวสวนยาง  "กยท."ดึงสมาชิก1.8ล้านรายสมทบ‘กองทุน’

02 ต.ค. 2563 | 05:12 น.

กยท.รุกจัดสวัสดิการเพิ่ม เล็งตั้ง “กองทุนสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง” แบบสมัครใจจ่ายสมทบ หวังคุ้มครองสมาชิก 1.8 ล้านราย “สุนทร รักษ์รงค์” เตรียมเดิน 7 เขต ดึงร่วมออกแบบ 

 

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รุกจัดสวัสดิการชาวสวนยาง เล็งตั้ง “กองทุนสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง” แบบสมัครใจจ่ายสมทบ หวังคุ้มครองสมาชิก 1.8 ล้านราย ให้มีหลักประกันในชีวิต “สุนทร รักษ์รงค์” เตรียมเดินสายฟังความเห็นชาวสวนยาง 7 เขต ร่วมออกแบบ 
    

นอกจากเป้าหมายเพื่อพัฒนาวงการยางพาราไทยให้ก้าวไกลแล้ว การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางให้ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้หลักคิดในส่วนของสวัสดิการที่ถูกจัดขึ้นมาเพื่อเกษตรกรชาวสวนยางทั้งหลาย จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาวสวนยางพาราเป็นหลัก ทุกๆ สวัสดิการที่ถูกจัดสรรมาจะมีส่วนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทั้งในส่วนเฉพาะหน้าและระยะยาว  
    

แม้สวัสดิการมากมายที่ถูกจัดสรรออกมาจะช่วยเหลือได้มากแล้ว แต่ด้วยหลักคิดที่คำนึงชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยาง “ต้องดีขึ้น”  ทำให้คณะกรรมการการ กยท. ภายในการนำของนายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานบอร์ด กยท. ที่มุ่งมั่นพัฒนาและจัดหาสิ่งดีๆ มามอบให้ชาวสวนยางพาราอย่างสม่ำเสมอ 
   ประพันธ์ บุณยเกียรติ  

โครงการต่อไปที่เตรียมความพร้อมที่จะนำมาใช้ในอนาคตสำหรับกเษตรกรชาวสวนยาง คือ โครงการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง แบบสมัครใจจ่ายสมทบ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โดย นายสุนทร รักษ์รงค์ กรรมการ กยท. และอนุกรรมการศึกษาข้อมูลการจัดสวัสดิการและอื่นๆ เพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง กยท. 
  

 ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือ พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางกลุ่มบัตรเขียว มีจำนวนประมาณ 1.4 ล้านราย และกลุ่มบัตรชมพูอีกประมาณ 4 แสนราย เนื้อที่ 6 ล้านไร่ ที่ไม่เกินสิ้นปีนี้น่าจะยกระดับเป็นบัตรเขียว เท่ากับจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.8 ล้านราย ประกอบกับใน 3-4 ปีนี้ มองว่ายอดการประกันอุบัติเหตุ น่าจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ โดยส่วนตัวคิดว่าน่าจะแบกภาระต่อไม่ไหว จากที่ต้องตั้งงบประมาณในส่วนของการจัดทำสวัสดิการ มาตรา 49 (5) ตกประมาณปีละ 500 กว่าล้านบาทนั้น ถ้าต้องกันไปซื้อประกันอุบัติเหตุ 300-400 ล้านบาท ก็แย่ เพราะไปเบียดบังสวัสดิการอื่นๆ ที่ยังต้องดูแลชาวสวนยาง
  
 “ตอนนี้คุณสังข์เวิน ทวดห้อย กรรมการ กยท. และประธานคณะอนุกรรมการศึกษาข้อมูลการจัดสวัสดิการและอื่นๆ เพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง กยท. ได้แต่งตั้งให้ผมเป็นประธานคณะทำงานศึกษาแนวทางการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยางแบบสมัครใจจ่ายสมทบ”
    

สุนทร รักษ์รงค์

นายสุนทรกล่าวว่า เมื่อพูดถึงโครงการกองทุนสวัสดิการฯ ปัจจุบันรัฐสวัสดิการแบบกลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่เคยโด่งดัง วันนี้เมื่่อเผชิญกับปัญหาโควิด ก็มีข่าวแพร่กระจายออกมาว่า ต้องกันเงินดำเนินการให้กับผู้สูงวัย เพราะงบประมาณในการจัดรัฐสวัสดิการเริ่มมีปัญหาไม่เพียงพอดูแลได้หมด จากที่คนตกงานก็ได้ ไหนจะผู้สูงอายุที่ต้องดูแล
    

ดังนั้น ชุดความคิดเรื่องสวัสดิการ จึงหันสู่แนวทางเลือกที่ลดภาระของภาครัฐ เปลี่ยนเป็นประชาชนจะต้องพึ่งพาตัวเองกันในหมู่ประชาชน เป็นลักษณะสังคมสวัสดิการ ซึ่งจะใช้เงื่อนไขตามกฎหมาย ไม่ว่าจะของกยท. เราเอง หรือช่วยกันหาดูว่ามีเงื่อนไขอื่นใดบ้างที่สามารถที่จะดึงเงินสมทบมาช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง  
    

ยกตัวอย่างเช่น ตัวเกษตรกรชาวสวนยางสะสมวันละ 1 บาทเข้ากองทุนฯ  ระยะ 1 ปีต่อคนก็เป็นจำนวน 365 บาท แล้วถ้ากยท.สมทบไปอีก 365 บาท ถ้าได้สวัสดิการชุมชนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน-พอช.) มาสมทบอีก 365 บาท ใน 1 ปี พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ก็จะมีเงินสะสมในกองทุนอยู่ประมาณ 1,000 บาทต่อคน
   รุกจัดสวัสดิการชาวสวนยาง  "กยท."ดึงสมาชิก1.8ล้านรายสมทบ‘กองทุน’    

“กองทุนสวัสดิการเป็นเรื่องที่พี่น้องเกษตรกรต้องมีความพร้อม และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้เกษตรกรตื่นตัวและสะสมก่อน ดังนั้น หลังจากทำการศึกษาเสร็จเราจะลงพื้นที่ไป 7 เขตทั่วประเทศ เพราะว่าการออกแบบในเรื่องนี้ต้องหารือกัน คณะทำงานฯตั้งตุ๊กตาที่คนละ 1 บาทต่อวัน แต่พี่น้องเกษตรกรอาจจะบอก 50 สตางค์ได้มั้ย จึุงต้องไปสอบถามความคิดเห็นกันก่อน”
    

นายสุนทร กล่าวต่อว่า วันนี้สวัสดิการจะกลายเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไข ที่เป็นความสุขให้กับชาวเกษตรกรชาวสวนยางพารา จากการได้รับสิทธิ์สวัสดิการเหล่านี้ โดยมุ่งหวังว่าในวันนี้รวมถึงความช่วยเหลือต่อไปในอนาคต จะต้องไปถึงพี่น้องบัตรสีชมพูที่จะยกระดับเป็นบัตรเขียว ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นทางออกที่จะเป็นแบบอย่างให้กลุ่มเกษตรกรชนิดอื่น เขาได้เห็นเป็นแบบอย่างว่าชาวสวนยางก็ทำได้ ในการจัดการตัวเองของชาวสวนยาง โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก
    

“ยกตัวอย่างถ้ากองทุนจัดตั้งเสร็จ เรามีเงิน 1,000 บาท ต่อคนอยู่ในมือ ในขณะที่เราทำประกันอุบัติเหตุคนหนึ่งประมาณ 100 กว่าบาท เรายังมีเงินเหลือที่ไปซื้อประกันสุขภาพ มีค่ารักษาพยาบาลได้ และคนกรีดยางเมื่ออายุเข้า 60 ปี ก็อาจจะมีการจัดบำนาญให้สำหรับคนกรีดยางที่เกษียณอายุ หรือกรณีเกิดภัยพิบัติต่างๆ มีความช่วยเหลือในเรื่องต้นยางพารา แต่สำหรับตัวเกษตรกรรายย่อยอาจจะลำบากในเรื่องของการเงิน เราก็อาจจะมีกองทุนช่วยเยียวยาเดือนละ 3,000 - 4,000 บาท เพื่อให้เขามีเงินในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันโดยไม่ขัดสนเกินไปนัก” นายสุนทร กล่าว ก่อนทิ้งท้ายว่า 
  

 โครงการสมัครใจจ่ายสมทบ สวัสดิการสำหรับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ที่มีแผนการร่างไว้คร่าวๆ และมีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ในเบื้องต้น 

 

ทุน 4 ล้านบาทลูกชาวสวนยางเรียนฟรีถึงปริญญาตรี

    

นายวีระพัฒน์ เดชารัตน์ หัวหน้ากองสวัสดิการเกษตรกร ฝ่ายพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กยท.ได้จัดสวัสดิการต่างๆ ให้เกษตรกรชาวสวนยาง ตาม พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 49 (5) เช่น ส่งเสริมอาชีพ ประกันอุบัติเหตุกลุ่ม และปีนี้เริ่มทำโครงการทุนการศึกษาบุตรเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ขึ้นทะเบียนกับกยท. ที่จะเรียนระดับปริญญาตรี 
    

โดยเป็นทุนการศึกษาต่อเนื่อง 4 ปี ปีละ 100,000 บาท จำนวน 10 ทุน รวมเป็น 4 ล้านบาท จนจบการศึกษา เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางในเรื่องของอาชีพ โดยต้องทำโครงการวิจัยหรือนวัตกรรมยางพาราอย่างน้อย 1 ชิ้น คาดหวังว่าเมื่อบุคลากรเหล่านี้จบมาแล้วจะมีส่วนร่วมกับกยท. ในการพัฒนาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับยางพารา 
    

ทั้งนี้ นักศึกษาทุนกยท. รุ่นแรก คัดเลือกให้เข้าไปเรียน 3 สถาบัน คือ หาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี 5 ทุน ม.อ.วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี 2 ทุน และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 3 ทุน

 รุกจัดสวัสดิการชาวสวนยาง  "กยท."ดึงสมาชิก1.8ล้านรายสมทบ‘กองทุน’

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

กยท. ตั้งไข่กองทุนสวัสดิการชาวสวนยางจ่ายสมทบ

กยท.เยียวยาชาวสวนยาง 3,000 บาท ใครได้สิทธิบ้างเช็กที่นี่

ชาวสวนยางเฮ รัฐฯเดินหน้าประกันรายได้เฟส 2 เริ่ม มิ.ย.นี้