“สปสช.” ชี้ยกเลิกสัญญา 64 คลินิก-โรงพยาบาล เฉพาะใน กทม.

19 ก.ย. 2563 | 02:00 น.

"สปสช."แจงยกเลิกสัญญา 64 คลินิก-โรงพยาบาล เฉพาะใน กทม. ยันสิทธิ "บัตรทอง" ยังคงอยู่

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยถึงกรณีที่ สปสช.บอกยกเลิกสัญญาการให้บริการสาธารณสุข ของคลินิกชุมชนอบอุ่นและโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่กระทำผิดสัญญาให้บริการสาธารณสุขในการเบิกจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง จำนวน 64 แห่ง ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. 2563 เป็นต้นไป

จะส่งผลให้ประชาชนที่มี บัตรทอง ของคลินิกชุมชนอบอุ่นและโรงพยาบาลทั้ง 64 แห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้รับผลกระทบประมาณ 8 แสนราย โดย สปสช.ขอย้ำว่า สิทธิบัตรทอง 30 บาทของประชาชนกลุ่มดังกล่าวยังคงอยู่ และการยกเลิกสัญญาเกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่ กทม.เท่านั้น ต่างจังหวัดไม่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้  ในช่วงที่ สปสช.กำลังดำเนินการจัดหาหน่วยบริการแห่งใหม่แทนหน่วยบริการเดิม เพื่อดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลให้กับประชาชนกลุ่มดังกล่าว จึงมีแนวทางให้กับประชาชนในการเข้ารับบริการสาธารณสุข ประกอบด้วย กรณีเจ็บป่วยทั่วไปหรือมีแผนการรักษาพยาบาลกับหน่วยบริการทั้ง 64 แห่ง ประชาชนกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลต่อเนื่องได้ที่หน่วยบริการภาครัฐและเอกชน ได้แก่ โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว โดยสามารถดูรายชื่อหน่วยบริการในพื้นที่ กทม. ได้ที่ https://bkk.nhso.go.th/ucs-around-me/

“สปสช.” ชี้ยกเลิกสัญญา 64 คลินิก-โรงพยาบาล เฉพาะใน กทม.

“สปสช.” ชี้ยกเลิกสัญญา 64 คลินิก-โรงพยาบาล เฉพาะใน กทม. อย่างไรก็ดี  หน่วยบริการที่ประชาชนสิทธิบัตรทองกลุ่มดังกล่าวเข้าไปรักษานั้น สปสช.ได้ทำหนังสือแจ้งหน่วยบริการทุกแห่งว่า ให้บริการสาธารณสุขและขอรับค่าใช้จ่ายเป็นกรณีผู้ป่วยสิทธิว่างมาที่ สปสช. โดยไม่ต้องเก็บเงินจากผู้ป่วย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://bkk.nhso.go.th/main/shownews.php?newsid=4666

ส่วนกรณีผู้ป่วยที่มีหนังสือส่งตัวเดิมเพื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลรับส่งต่อ สามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลรับส่งต่อเดิมได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว แต่หากโรงพยาบาลรับส่งต่อเดิมนั้นถูกยกเลิกสัญญาด้วย ก็สามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้านได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว

ขณะที่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ประชาชนสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลได้ที่หน่วยบริการภาครัฐและและเอกชน ได้แก่ โรงพยาบาลของรัฐ ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือหากเป็นภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติเข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ หรือ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) ก็สามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้านได้

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อไปอีกว่า กรณีผู้ป่วยที่ยังนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ที่ถูกประกาศยกเลิกสัญญา แต่ยังไม่สิ้นสุดแผนการรักษา ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะใช้สิทธินอนรักษาต่อเนื่องได้จนอาการดีขึ้น แพทย์พิจารณาแล้วอนุญาตให้กลับบ้านได้ โดยโรงพยาบาลยังเบิกค่าใช้จ่ายกรณีผู้ป่วยกลุ่มนี้มายัง สปสช.ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จึงขอความร่วมมือโรงพยาบาลช่วยดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ตามมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีนัดผ่าตัดหรือแอดมิทเป็นผู้ป่วยในตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 63 กับโรงพยาบาลที่ถูกบอกยกเลิกจำนวน 7 แห่ง ยังสามารถแจ้งชื่อ วันนัดผ่าตัด และเบอร์โทรศัพท์ มาที่สายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะประสานหน่วยบริการให้ได้รับการรักษาและได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หรือหากมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามทางสายด่วน 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ตรวจสอบรายชื่อ 64 คลินิกและ รพ.ที่ถูกยกเลิกสัญญาได้ ที่ https://bkk.nhso.go.th/main/shownews.php?newsid=4664

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"สปสช."ไขข้อข้องใจ ยกเลิก 64 คลินิก ผู้ใช้บัตรทองต้องทำอย่างไร