โพลเผย ปชช.กังวลปัญหาศก."หนี้สิน-ของแพง -ว่างงาน"

30 ส.ค. 2563 | 02:49 น.

สวนดุสิตโพล"เผยผลสำรวจ "ความวิตกกังวลของประชาชน" ต่อปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม 3 เรื่องมากสุด " ขัดแย้งแตกแยกทางการเมือง - หนี้สิน - ทุจริต "

ท่ามกลางความวิตกกังวลและความหนักใจของประชาชนที่มีในบ้านเมือง ณ วันนี้ ทั้งในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ สังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัญหารุมเร้าอีกหลากหลายรูปแบบที่นับวันยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ความคิดเห็นของประชาชนจึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่มีผลกระทบและควรเร่งแก้ไข เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน
   

 

 

โพลเผย ปชช.กังวลปัญหาศก."หนี้สิน-ของแพง -ว่างงาน"

 

 

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ความวิตกกังวลของประชาชน ต่อการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ณ วันนี้” กลุ่มตัวอย่าง 1,727 คน สำรวจวันที่ 25 - 28 ส.ค. 2563  สรุปผลได้ ดังนี้
         
         

1. “5 อันดับ” ความวิตกกังวลของประชาชนที่มีต่อ “การเมือง” ณ วันนี้
         
         

           อันดับ 1 การสร้างความขัดแย้งแตกแยกทางการเมือง 75.80%
         

           อันดับ 2 การซื้อเรือดำน้ำ 66.24%
         

           อันดับ 3 การคุกคามต่อประชาชน 59.81%
         

           อันดับ 4 การชุมนุมประท้วง 58.89%
       

           อันดับ 5 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 54.37%
         
       

2. “5 อันดับ” ความวิตกกังวลของประชาชนที่มีต่อ “เศรษฐกิจ” ณ วันนี้
         

           อันดับ 1 หนี้สินของประชาชน 80.78%
         

           อันดับ 2 สินค้าแพง 76.78%
     

           อันดับ 3 การว่างงาน 74.64%
         

           อันดับ 4 การส่งออกติดลบ 67.52%
         
       

           อันดับ 5 การกินอยู่ยุคโควิด-19 67.34%

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง

ชูสามนิ้ว ผูกโบว์ โพลสะท้อนสังคมไทยกำลังเผชิญความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมือง

กสิกรไทยมองศก.ปี 63 เสี่ยงหดตัว -10%  ธุรกิจอาหาร-โรงแรม ยังน่าห่วง       

วิกฤติเศรษฐกิจ เหตุปชป.“คว่ำเรือดำน้ำ” 

 

3. “5 อันดับ” ความวิตกกังวลของประชาชนที่มีต่อ “สังคม” ณ วันนี้
       

          อันดับ 1 การทุจริตคอร์รัปชั่น 83.56%
         

          อันดับ 2 สุขภาพอนามัย (โควิด-19) 64.16%
         

          อันดับ 3 การบูลลี่ (เหยียด/กลั่นแกล้ง/ข่มเหงรังแก) 62.02%
         

          อันดับ 4 กระบวนการยุติธรรม (คดีบอส ) 61.96%
         

          อันดับ 5 น้ำท่วม 55.88%
         
          *หมายเหตุ ผู้ตอบสามารถระบุความคิดเห็นได้มากกว่า 1 เรื่อง (ค่าร้อยละจึงคำนวณในแต่ละข้อ)

 

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ความวิตกกังวลของประชาชน ต่อการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ณ วันนี้” จากกลุ่มตัวอย่าง 1,727 คน  พบว่า “ด้านการเมือง” วิตกกังวลเรื่องความขัดแย้งแตกแยก ร้อยละ 75.80 การซื้อเรือดำน้ำ ร้อยละ 66.24 “ด้านเศรษฐกิจ” วิตกกังวลเรื่องหนี้สิน ร้อยละ 80.78 สินค้าแพง ร้อยละ 76.78 และ “ด้านสังคม” วิตกกังวลเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ร้อยละ 83.56 สุขภาพอนามัย (โควิด-19)ร้อยละ 64.16 

 

จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองทั้งในและนอกสภา ส่งผลให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลเรื่องการเมืองถึงร้อยละ 75.80 ยิ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากระแสการอนุมัติซื้อเรือดำน้ำท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่ GDP ติดลบจนกระทบต่อปากท้องของประชาชน ยิ่งทำให้ประชาชนกังวลมากขึ้น ต้องการให้รัฐบาลรับฟังและแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนก่อน เพราะคนกังวลเรื่องหนี้สิน ร้อยละ 80.78 สินค้าแพง ร้อยละ 76.78 การว่างงานร้อยละ 74.64 และในด้านสังคมประชาชนกังวลเรื่องการทุจริตถึงร้อยละ 83.56 ซึ่งกังวลมากกว่าเรื่องโควิด-19 เกือบร้อยละ 20 เลยทีเดียว (กังวลเรื่องโควิด-19 ร้อยละ 64.16)         

         

 

จากผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลในเรื่องความวิตกกังวลของประชาชนต่อการเมือง เศรษฐกิจ สังคม แสดงให้เห็นถึง “อาการน่าเป็นห่วง” และ “ปัญหารุมเร้า” ของรัฐบาล ข้อกังวลของประชาชนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะส่งผลต่อความกังวลในอีกเรื่องหนึ่งเสมอ ไม่ว่าจะเป็นความกังวลในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ข้อขัดแย้งทางการเมือง การซื้อเรือดำน้ำ ฯลฯ

 

ยิ่งหันมามองตัวเลขความกังวลในด้านเศรษฐกิจยิ่งตอกย้ำความเป็นเรื่องเดียวกันในความรู้สึกของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นความกังวลในด้านหนี้สิน สินค้าราคาแพง และปัญหาการว่างงาน กล่าวโดยง่ายคือ ที่บ้านปากท้องยังไม่อิ่ม เจ้าหนี้ทวงหนี้อยู่หน้าบ้านแต่ผู้นำครอบครัวยังเอาเงินไปใช้จ่ายเพื่อการอื่น ความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง และตำหนิถึงความไม่มีประสิทธิภาพของผู้นำยิ่งตามมา
         

ตัวเลขจากผลสำรวจย้ำเตือนให้รัฐบาลควรออกมายอมรับความจริงเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ผลสำรวจสะท้อนเสียงของประชาชนว่า “ต้องการการเปลี่ยนแปลง” ทั้งนี้ปัญหาต่างๆ ไม่เคยอยู่นิ่ง มีแต่จะพอกพูนทับทวีขึ้นเรื่อยๆ และความรู้สึกของประชาชนก็เป็นเสียงสะท้อนของ “วิกฤตศรัทธาต่อรัฐบาล” อย่ารอให้ความวิตกกังวลก่อตัวและสะสมเป็นเชื้อเพลิงรอวันให้จุดติดอย่างทุกวันนี้

 

หากรัฐบาล “ไวต่อความรู้สึกวิตกกังวลของประชาชน” ขยับให้เห็นอย่างรวดเร็วและชัดเจนถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาต่างๆ สื่อสารด้วยความจริงใจ เพื่อให้ประชาชนได้มีความหวังในการเห็นการชำระสะสางข้อวิตกกังวล เชื่อแน่ว่าประชาชนจะเข้าใจและยังไม่ถึงทางตันในอนาคตของรัฐบาลอย่างแน่นอน