สหรัฐ จ่อคืน "ทับหลังปราสาทเขาโล้น-หนองหงส์" ให้ไทย

24 ส.ค. 2563 | 06:51 น.

เฮ! สหรัฐ ยอมรับแล้ว “ทับหลังปราสาทเขาโล้น-หนองหงส์” เป็นกรรมสิทธิ์ของไทย รอกระบวนการทางกฎหมาย เตรียมส่งคืน คาดแล้วเสร็จ มีนาคม 2564

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยวันนี้ (24 สิงหาคม 2563) ว่า หลังจากที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ดำเนินการติดตามโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของไทย ที่อยู่นอกราชอาณาจักรกลับคืนสู่ประเทศนั้น

 

ล่าสุด กรมศิลปากรได้รับแจ้งข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการว่า สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในปัจจุบันซึ่งมีแนวโน้มไปในทางที่ดี โดยโบราณวัตถุชุดแรกที่ดำเนินการติดตาม ได้แก่ ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว และทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ ที่จัดแสดงอยู่ที่ Asian Art Museum นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

22 พ.ค.กรมศิลป์เปิดแหล่งเรียนรู้ย้ำเข้มมาตรการกันโควิด-19 

กระทรวงวัฒนธรรมมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วย“พลังบวร”

กรมศิลป์เตรียมมาตรการรับไวรัสโคโรนาแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมทั่วปท.

"กรมศิลป์ฯ-ท้องถิ่น"ร่วมฟื้น"เรือนบอมเบย์เบอร์มา"แพร่

 

และทางพิพิธภัณฑ์ฯได้ยอมรับว่า ทับหลังทั้ง 2 รายการ เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายไทยแล้ว

ขณะนี้สหรัฐได้เคลื่อนย้ายทับหลัง 2 ชิ้น ออกจากห้องจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์มาจัดเก็บในห้องคลังเพื่อรอขั้นตอนทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งกระบวนการส่งคืนสู่ประเทศไทย อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง คาดว่า จะดำเนินการเสร็จสิ้นประมาณเดือนมีนาคม 2564 ทั้งนี้ การดำเนินการทวงคืนโบราณวัตถุเป็นประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดตามและให้ความสำคัญมาโดยตลอด ตนจึงได้รายงานความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวต่อ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เพื่อรายงานถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อทราบแล้ว

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้กรมศิลปากรได้ประสานงานอย่างเป็นทางการผ่านกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ส่งหนังสือติดตามทวงคืนโบราณวัตถุถึงสำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา พร้อมข้อมูลการศึกษาทางวิชาการและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวน ยืนยันโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และได้ถูกลักลอบนำออกไปโดยวิธีการที่ผิดกฎหมาย เช่น รายงานการสำรวจของกรมศิลปากร ตัวอย่างเอกสารอนุญาตในการส่งออกโบราณวัตถุ เพื่อนำไปสู่กระบวนการขอส่งคืนประเทศไทย