"หมอธีระ"ชี้ 3 ปัจจัยที่มีอิทธิพล ต่อการแพร่ระบาด "โควิด-19"

22 ส.ค. 2563 | 02:51 น.

"หมอธีระ"ชี้ 3 ปัจจัยที่มีอิทธิพล ต่อการแพร่ระบาด "โควิด-19" หากไทยจะไปรอด ต้องระวังเรื่องการนำเข้ามาจากต่างประเทศ

22 สิงหาคม 2563 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุด 22 สิงหาคม 2563 ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat  ระบุว่า

สถานการณ์ทั่วโลก 22 สิงหาคม 2563

ทะลุ 23 ล้านไปแล้ว

ติดเพิ่มอีก 279,237 คน ตายเพิ่มไปถึง 6,092 คน ยอดรวม 23,071,223 คน

อัตราเร็ว 1 ล้านคนใน 4 วันเช่นเดิม

อเมริกา จำนวนเสียชีวิตสูงถึง 1,831 คน ติดเพิ่ม 52,027 คน รวม 5,792,025 คน

บราซิล ติดเพิ่ม 30,355 คน รวม 3,532,330 คน

อินเดีย ติดเพิ่ม 69,039 คน รวม 2,973,368 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

7 เรื่องอัพเดตสถานการณ์โควิด-19 ก่อนเริ่มวันใหม่

เช็คที่นี่ ศบค.ผ่อนคลายเข้าชมกีฬา ประเภทไหน เชียร์ในสนามได้เท่าไหร่

ศบค.เผยความคืบหน้า "การพัฒนา-ผลิตวัคซีนโควิด-19"

รัสเซีย ติดเพิ่ม 4,870 คน รวม 946,976 คน

แอฟริกาใต้ เม็กซิโก เปรู ติดกันเพิ่มราว 3,400 6,700 7,600 ตามลำดับ

สเปน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมัน อิหร่าน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น ติดกันหลักพันถึงหลายพัน โดยมีอิตาลีตามมาเกือบพัน

หลายประเทศในยุโรป รวมถึงแคนาดา ปากีสถาน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ติดกันหลักร้อยถึงหลายร้อย

จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ ติดกันหลักสิบ ส่วนมาเลเซีย และเวียดนาม ติดกันต่ำกว่าสิบ

...สถานการณ์ทั่วโลกตอนนี้ยังระบาดกันรุนแรงเช่นเดิม...

อย่างที่เคยวิเคราะห์ไปแล้วว่า การระบาดน่าจะซาลงใน 6-18 เดิอน หากดูตามข้อมูลการระบาดในอดีตของโรคอื่นๆ

ปัจจัยที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งมีเพียง 3 เรื่อง คือ

หนึ่ง ไวรัสจะกลายพันธุ์ไปเป็นตัวที่ร้ายกว่านี้ไหม ทั้งในแง่การแพร่เร็วขึ้นและรุนแรงทำให้ตายมากขึ้น? ข้อมูลปัจจุบันคิดว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น โอกาสน่าจะมีน้อย ดังนั้นการระบาดจึงน่าจะเป็นไปในลักษณะที่เห็น

สอง ยาและวัคซีน จะวิจัยได้ผลเร็วช้าเพียงใด? หากได้ยามารักษาที่ได้ผลดี หรือวัคซีนที่ป้องกันได้ดี ก็จะคุมได้เร็วขึ้น

และสามคือ ความประพฤติของรัฐ และประชาชนในแต่ละประเทศ ไม่นำความเสี่ยงเพิ่มเข้ามาสู่ประเทศ ทำเฉพาะเท่าที่จำเป็น ประคับประคองตัวให้พอหายใจไปได้ตลอดรอดฝั่ง อดทน อดกลั้น อดออม พอเพียง ยืนบนขาตนเอง ลดการพึ่งพา และป้องกันตัวเองและครอบครัวเสมอ รีบตรวจรักษาหากไม่สบาย

หากพิจารณาดีๆ จะพบว่า ปัจจัยแรกเราคงไปควบคุมไวรัสไม่ได้ ปัจจัยที่สองก็เป็นไปตามเวลาที่ควรจะเป็น แต่ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าวัคซีนป้องกันที่จะได้นั้นอาจมีประสิทธิภาพเพียงระดับหนึ่ง ไม่มากนัก และจำเป็นต้องอาศัยเรื่องอื่นๆ เช่น ยา และการประพฤติปฏิบัติมาเป็นมาตรการควบคู่แน่นอน

ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือสิ่งที่รัฐและประชาชนจะทำได้ดีที่สุด อยู่ในวิสัยที่จะจัดการได้ หากทำได้อย่างพร้อมเพรียงต่อเนื่อง ก็จะช่วยให้อยู่รอดปลอดภัย และเป็นแรงหนึ่งในโลกที่จะช่วยคุมโรคระบาด COVID-19 นี้ให้ได้เร็วขึ้น

ยืนยันว่า หากไทยจะไปรอด ต้องระวังเรื่องการนำเข้ามาจากต่างประเทศ อนุญาตให้กลุ่มเป้าหมายต่างๆ เข้ามาเท่าที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น เช่น คนที่แต่งงานกับคนไทย แรงงานที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น

ส่วนฟองสบู่ท่องเที่ยวนั้น จำเป็นต้องยุติไปก่อนครับ อย่างน้อยอีก 6 เดือนค่อยพิจารณาสถานการณ์อีกครั้ง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากธุรกิจเหล่านั้นควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยา และหาทางประกอบอาชีพอื่นๆ เพื่อเป็นรายได้ทดแทน

ประเทศไทยต้องทำได้

กรมอุตุฯเตือน 33 จังหวัด ระวังฝนตกหนักถึงหนักมาก