"รถเก่าแลกรถใหม่"เอกชนจี้รัฐ เคาะเงื่อนไขให้ไว ก่อนตลาดชะงัก

24 พ.ย. 2563 | 19:00 น.

"รถเก่าแลกรถใหม่" เงื่อนไขยังไม่ชัด รอเรียกประชุมก่อนส่งต่อศบศ.อีกรอบ ด้าน "เอกชน" เผยต้องรีบเคาะโดยเร็ว เพราะตลาดจะชะงัก ลูกค้าชะลอตัดสินใจซื้อ ส่วนค่ายรถเสนอไม่ควรจำกัดว่าเป็นรถประเภทไหน แต่ต้องเป็นรถที่ผลิตจากโรงงานในประเทศเท่านั้น

ฝุ่นตลบกันขึ้นมาอีกระลอก สำหรับ โครงการ รถเก่าแลกรถใหม่ หลัง ศบศ.หรือ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ได้ออกมาประกาศว่า เห็นชอบในข้อเสนอของโครงการรถแลกแจกแถม หรือ รถเก่าแลกรถใหม่ 100,000 คัน ที่เสนอโดยคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว 


โดยภายหลังจากเห็นชอบข้อเสนอดังกล่าว ก็ได้ประชุมมอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือรายละเอียดมาตรการ โครงการแหล่งเงิน และแนวทางการเร่งรัดขับเคลื่อนให้เป็นไปอย่างเหมาะสมต่อไป


ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ได้ประกาศว่าจะมีการประชุมปรึกษาหารือรายละเอียดต่างๆกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน ในช่วงสัปดาห์นี้หรือภายใน 15 วัน  โดยตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเงื่อนไขที่จะแลก 100,000 คันนั้น จะมีอะไรบ้าง จะลดแบบไหน ลดเท่าไร และเมื่อมีการประชุมกันแล้วก็ต้องนำเสนอต่อ ศบศ.ก่อน หลังจากนั้นก็คาดว่าจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีอีกรอบ


"สภาอุตฯรับลูก หนุนให้ได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนพ.ย."


นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการ "รถเก่าแลกรถใหม่" ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม และ ลดต้นทุนของผู้ที่ต้องการจะซื้อรถคันใหม่ให้ถูกลง อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังไม่ได้มีข้อสรุปความชัดเจนเรื่องเงื่อนไขต่างๆจากภาครัฐออกมา ซึ่งหากให้กำหนดกรอบเวลา มองว่าควรจะทำให้เร็วที่สุด เพราะตลาดจะได้ไม่หยุดชะงัก เนื่องจากคนจะรอดูมาตรการนี้  


"มองว่าควรได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนนี้ เพราะต้นเดือนธันวาคมจะมีงานอีเวนต์อย่างมอเตอร์ เอ็กซ์โป ซึ่งเรามองว่าหากได้ข้อสรุปเร็ว ก็จะช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ให้กลับมา ส่วนเรื่องเงื่อนไขต่างๆจะมีอะไรบ้างนั้นก็ต้องรอให้ทางรัฐประกาศออกมาอีกที"

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"รถเก่าแลกรถใหม่" เคาะเงื่อนไขแลกแจกแถม 100,000 คันใน 15 วัน

"รถเก่าแลกรถใหม่" ถกเงื่อนไขแลกแจกแถม 100,000 คัน สัปดาห์หน้า

เร่งหาข้อสรุปโครงการ "รถเก่าแลกรถใหม่"

"ชงรัฐฯรถเก่าแลกรถใหม่"ต้องเป็นรถที่ผลิตในประเทศเท่านั้น


นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการ"รถเก่าแลกรถใหม่"มีการพูดคุยกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว ดังนั้นเมื่อ ศบศ.ออกมาประกาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ทำให้โครงการดังกล่าวเริ่มเห็นความคืบหน้ารูปธรรมมากขึ้น 


ทั้งนี้อยากเสนอแนะว่าการนำรถเก่ามาแลกรถใหม่นั้น ไม่ควรจำกัดว่าเป็นรถประเภทใดประเภทหนึ่ง โดยแลกได้ทั้งรถทั่วไป อีโคคาร์ ,รถไฮบริด,รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถกระบะ แต่ต้องเป็นรถยนต์ที่ผลิตและประกอบจากประเทศไทยเท่านั้น เพราะจะเป็นการช่วยอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศที่มีห่วงโซ่ ซัพพลายเซน ทั้งระบบให้อยู่ได้  


"เงื่อนไขโครงการรถเก่าแลกรถใหม่ ถ้าออกมาก็อยากจะให้แลกรถยนต์ที่ผลิตจากโรงงานในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นรถอีโคคาร์ รถไฮบริด รถไฟฟ้า รถกระบะ โดยไม่อยากให้จำกัดเฉพาะแค่รถไฟฟ้าเนื่องจากรถไฟฟ้าตอนนี้มีเพียงไม่กี่ค่าย ขณะที่รถไฮบริดถือว่ามีแนวโน้มเติบโต เพราะหากดูจากสัดส่วนยอดขายรถยนต์ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ประเภทเครื่องยนต์ที่เติบโตคือไฮบริด ที่โตกว่า 44 % และรถประเภทนี้มีฐานการผลิตในบ้านเรา "


นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับเปลี่ยนต่างๆอาจจะต้องใช้เวลา แต่เชื่อว่ารัฐจะค่อยๆเดินหน้าให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งคงต้องรอดูความชัดเจนและเงื่อนไขที่จะออกมาสำหรับโครงการนี้ว่าจะมีอะไรบ้าง 


"หลายๆเรื่องที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าใช้เวลานานในการแก้ไขกฎระเบียบ ดังนั้นก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป ยกตัวอย่างที่เพิ่งประกาศล่าสุดคือ การสนับสนุนกิจการลงทุนส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานพาหนะไฟฟ้า (อีวี) รอบใหม่ ที่ครอบคลุมทั้ง รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสารและรถบรรทุก รวมถึงเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า"
 

"ค่ายรถเตรียมถกแพคเกจกับรัฐภายใน2สัปดาห์นี้"

ขณะที่มุมมองจากค่ายรถ เปิดเผยว่า หากมองในแง่การช่วยลด PM2.5 หรือ เรื่องสิ่งแวดล้อม ก็ถือว่าโครงการรถเก่าแลกรถใหม่ เป็นโครงการที่ดี แต่ทั้งนี้ต้องพูดคุยกับภาครัฐเพื่อดูเงื่อนไขรายละเอียดต่างๆ ยกตัวอย่าง การกำจัดซาก การนำรถเก่ามาทำลาย จะมีแพคเกจไหนบ้าง จะเป็นการลงทุนจากใคร จากค่ายรถหรือจากภาครัฐ โดยคาดว่าภายในอาทิตย์นี้หรืออาทิตย์หน้าจะมีการพูดคุยร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 


ขณะที่ความพร้อมของโรงงานกำจัดซากรถยนต์ในประเทศไทยนั้น ในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2-3 แห่ง แต่สิ่งสำคัญที่ค่ายรถเคยนำเสนอคือ การให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมโรงงานฯที่ต้องให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ กับผู้ที่เก็บซาก ชิ้นส่วนต่างๆ การถอดแยกเพื่อนำมารีไซเคิล โดยมีกระบวนการทำที่เป็นมาตรฐาน 


"เรายกตัวอย่าง ซาเล้ง ที่เขาจะเก็บชิ้นส่วน อะไหล่ต่างๆ ตรงนี้ต้องให้ความรู้กับเขา จับเขามาอบรม เพราะชิ้นส่วนบางอย่าง อาทิ แอร์แบ็ก น้ำยาคอมเพรสเซอร์ มันต้องมีมาตรฐานในการถอดแยกเพื่อไม่ให้เป็นอันตราย"


ส่วนการแลกรถใหม่นั้น เห็นด้วยว่าต้องเป็นรถยนต์ที่ผลิตในประเทศและเปิดกว้างไปเลย ทั้งรถอีโคคาร์ รถกระบะ รถไฮบริดต่างๆ เพราะทุกวันนี้รถยนต์เหล่านี้รองรับมาตรฐานยูโร 4 ยูโร 5 โดยไม่ต้องไปจำกัดว่าต้องแลกเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแต่เพียงอย่างเดียว 


ค่ายรถผวา ลูกค้าชะลอการตัดสินใจซื้อ

ด้านแหล่งข่าวจากผู้ผลิตรถยนต์ เปิดเผยว่า โครงการรถเก่าแลกรถใหม่อาจจะทำให้เกิดภาวะชะลอการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ดังนั้นภาครัฐควรจะเร่งหาข้อสรุปให้ได้โดยเร็ว ขณะเดียวกันมองว่าส่วนลด 1 แสนบาทที่ออกมาจูงใจ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการแข่งขันผ่านแคมเปญ โปรโมชันของค่ายรถในปัจจุบันจะพบว่าไม่ต่าง


โดยแต่ละค่ายมีการลดแลกแจกแถม เมื่อนับรวมมูลค่าแล้วก็ใกล้เคียงกับ 1 แสนบาท หรือบางค่ายอาจจะมากกว่า -น้อยกว่ากันเล็กน้อย ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อและกระตุ้นการตัดสินใจของลูกค้า