เร่งหาข้อสรุปโครงการ "รถเก่าแลกรถใหม่"

18 พ.ย. 2563 | 14:45 น.

ที่ประชุม ศบศ.เห็นชอบในหลักการ "รถเก่าแลกรถใหม่" ตั้งเป้า 1 แสนคัน พร้อมสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือรายละเอียด-มาตรการ-แหล่งเงิน แนวทางเร่งรัดขับเคลื่อนอย่างเหมาะสม

หลังจากที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ - กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการพูดคุยเพื่อขอให้ผลักดันโครงการ รถเก่าแลกรถใหม่ โดยนำรถเก่าที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 15 ปี ขึ้นไป มาเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยกระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้มีความนิยมเพิ่มขึ้น รวมไปถึงยังช่วยบริหารจัดการซากยานยนต์ และแก้ไขปัญหาเรื่อง PM2.5 

 

อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุปเรื่องเงื่อนไขหรือรายละเอียดออกมา ซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรมเผยว่าต้องพูดคุยร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยืนยันว่าต้องการผลักดันโครงการดังกล่าวเพื่อกระตุ้นให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศฟื้นตัว

 

ล่าสุดนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 63 ว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบศ.) เห็นชอบในหลักการข้อเสนอโครงการบริหารเศรษฐกิจระยะปานกลางและระยะยาว ชุดที่ 2 ที่เสนอโดย คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" ฟื้นโครงการ "รถเก่าแลกรถใหม่"

“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รับลูกแจ้งเกิด EV ทำแผนให้หน่วยงานรัฐบาลซื้อนำร่อง

“สุริยะ” ชง ครม.เคาะลดภาษีเงินได้กระตุ้นซื้อรถยนต์ใหม่

ประกอบด้วยโครงการที่ควรได้รับการส่งเสริมแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม ประกอบไปด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมยานพาหนะไฟฟ้าเพื่อให้ประเทศไทยเป็นเมืองสะอาด เช่น โครงการรถแลกแจกแถม (รถเก่าแลกรถใหม่ 100,000 คัน) , โครงการจักรยานยนต์ไฟฟ้าไทยชนะ และ โครงการจัดหารถโดยสารเพื่อประชาชนของขสมก. โดยการเช่ารถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้า เป็นต้น 

 

นอกจากนี้ยังสนับสนุนการส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ การส่งเสริมการจ้างงาน เช่น การเสริมสร้างการจ้างงานในภูมิลำเนา โครงการบริบาลชุมชนระดับหมู่บ้าน การส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตประชารัฐ เป็นต้น การจัดตั้งสถานที่กักกันแรงงานต่างด้าวใน 11 จังหวัด และการบริหารจัดการภาครัฐด้านการเงินและการค้าระหว่างประเทศ เช่น การจัดทำข้อมูลด้านทรัพยากรการเงินของประเทศ รวมทั้งการรักษาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น

 

"ได้ให้ที่ประชุมมอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือรายละเอียดมาตรการ โครงการแหล่งเงิน และแนวทางการเร่งรัดขับเคลื่อนให้เป็นไปอย่างเหมาะสมต่อไป"