‘สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง’ พร้อมเดินหน้าแก้ประเด็นภาษีซํ้าซ้อน

01 ก.ค. 2559 | 06:00 น.
ดีเวลลอปเปอร์ หวั่นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซ้ำเติมภาระประชาชน เหตุรัฐเก็บภาษีซ้ำซ้อน" "อธิป" จี้รัฐเร่งทบทวน โอดต้นทุนผู้บริโภค เสียร่วม 6 %ตอนได้ทรัพย์สินมาและยังต้องเสียขณะถือครอง แนะเก็บ Capital gain tax เหมาะกว่า ด้านสศค." ลวรณ " พร้อมเดินหน้าปรับปรุงโฟกัสภาษี"โอนเปลี่ยนมือ" แต่ขอดูผลจัดเก็บหลังกฏหมายใหม่ใช้สักระยะ

นายลวรณ แสงสนิท ที่ปรึกษาเศรษฐกิจการเงินการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)กระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแนวนโยบายของรัฐในเรื่องการปรับปรุงภาษีที่เสียซ้ำซ้อน ว่า กระทรวงการคลัง จะนำไปประกอบการพิจารณา หลังจากที่กฏหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีผลบังคับใช้ไประยะหนึ่งว่า ผลจัดเก็บรายได้จริงจะเป็นอย่างไร และหากจะต้องแก้ก็ต้องไปแก้ไขที่กฎหมายกระทรวงมหาดไทย

ทั้งนี้ภาษีที่เกี่ยวกับการถือครองมี 3 ส่วนคือ 1.ภาษีค่าธรรมเนียมการโอน, 2.ภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ และ 3.ภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งหากถือครองเกิน 5 ปี จะไม่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3 % เหตุผลเพื่อลดการเก็งกำไร อย่างไรก็ดี ในส่วนของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รัฐจะจัดเก็บตอนถือครอง

"เมื่อก่อนการจัดเก็บภาษีเพื่อให้ได้ทรัพย์สินที่ถือครอง ถือเป็นรายได้ก้อนใหญ่มาก เพราะอัตราการเปลี่ยนมือค่อนข้างสูง ดังนั้นรัฐจึงต้องรอดูก่อนว่า ผลจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ออกมารายได้จะเป็นอย่างไร ถ้าอยู่ในระดับพอสมควร ก็อาจต้องหยิบยกเรื่องภาษีที่เสียซ้ำซ้อนมาพิจารณากันใหม่ เช่นค่าธรรมเนียมการโอน โดยในแง่ของการเปลี่ยนมือจะเป็นเรื่องในลำดับถัดไปที่เราจะนำมาพิจารณา ปรับให้สมเหตุสมผลมากกว่าปัจจุบัน "นายลวรณ กล่าว.

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะประกาศใช้ในปี 2560 ยังคงมีความไม่ชัดเจนในรายละเอียด หลายคนมีการตั้งข้อสังเกตว่าจะมีความซ้ำซ้อนของการจัดเก็บภาษีครั้งนี้หรือไม่ เนื่องจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้เป็นการจัดเก็บจากฐานภาษีบนมูลค่าทรัพย์สินเมื่อถือครอง แต่การได้มาของทรัพย์สินมีค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์ ค่าธรรมเนียมจดจำนอง และภาษีธุรกิจเฉพาะ ทำให้เป็นต้นทุนของการได้มาซึ่งทรัพย์สินรวมแล้วร่วม 6% จึงถือเป็นการซ้ำเติม โดยถือเป็นจัดเก็บภาษีทั้งจากที่ได้มาและที่ถือครอง ถ้ามีกฎหมายภาษีฯออกมาใช้แล้ว เรื่องดังกล่าวควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่

สำหรับภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งภาษีที่อาจทำให้กิดความซ้ำซ้อน เนื่องจากในความเป็นจริงต่างประเทศไม่มีการเก็บภาษีดังกล่าว แต่จะจัดเก็บภาษีการขาย (sale tax) แทน ขณะที่ประเทศไทยกำหนดว่าธุรกิจประเภทนี้ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ และมีปัญหาว่าผู้ประกอบการมีต้นทุนเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต ไม่สามารถนำมาเคลมได้ เพราะบริษัทพัฒนาอสังหาฯมีแต่ภาษีแวตซื้อ ไม่มีแวตขาย และสุดท้ายผู้ที่เดือดร้อนคือผู้บริโภค เพราะภาระภาษีทั้งหมดจะถูกผลักให้เป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ

"ผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นผู้ซื้อใหม่ ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนมือเก็งกำไร เพราะภาษีธุรกิจเฉพาะครอบคลุมมาถึงผู้ซื้อครั้งแรกด้วย ผมสนับสนุนให้มีการเก็บภาษี capital gain tax (ภาษีที่คิดจากผลกำไรส่วนต่างระหว่างราคาขายกับราคาซื้อ )จะเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แบบที่ต่างประเทศทำกัน สมมติซื้อที่อยู่อาศัยมาในราคา 1 ล้านบาท ขายไปได้ราคา 1.5 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษีส่วนต่าง 5 แสนบาท ไม่ใช่ว่าบ้านราคา 1 ล้านบาทขายไป 10 ครั้ง เท่ากับ 10 ล้านบาท เสียภาษีทุกครั้งที่ขาย

ทั้งที่บางคนขายขาดทุน เช่นเพราะติดหนี้ธนาคาร ถูกบังคับให้ขายก็ต้องเสียภาษีไปด้วย ส่วนผู้ประกอบการก็เสียทุกจังหวัดที่ขายทุกหน่วย ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องผลักต่อไปให้กับผู้ซื้อ ฉะนั้นไม่มีใครเป็นผู้เสียภาษีตัวจริง เว้นผู้บริโภค น่าเป็นห่วงว่าภาระนี้จะมากเกินไปหรือไม่ จะตอบโจทย์วัตถุประสงค์การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือไม่ ผมมีความเข้าใจรัฐบาล ต้องการจะผลักดันภาษีที่ดินออกมา แต่หลักการต้องไปรีวิวภาษีทุกตัว มีภาษีที่เป็นธรรม และ capital gain tax ก็เป็นภาษีที่เป็นธรรม"นายอธิป กล่าว

ด้าน นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ ซีบี ริชาร์ด เอลลิส ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ลูกค้าของบริษัทได้มีการสอบถามถึงรายละเอียดของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เตรียมประกาศใช้ในปี 2560 เข้ามาค่อนข้างมาก เนื่องจากมองว่าภาษีดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนหรืออัตราการจัดเก็บอาจสูงเกินไป เพราะเก็บจากทั้งราคาประเมินที่ดินและราคาสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่บนที่ดินนั้น

"ลูกค้าที่สอบถามเข้ามามองว่าภาษีดังกล่าวสร้างภาระให้เพิ่มขึ้น หรือเป็นการบีบบังคับทางอ้อมให้มีการพัฒนาบนที่ดิน แม้ว่าสภาวะการณ์ในปัจจุบันจะไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาสิ่งต่างๆ อย่างเช่น ผู้ประกอบการอสังหาฯที่ถือครองที่ดินต้องรีบนำที่ดินเหล่านั้นมาพัฒนาเพื่อที่จะลดภาระภาษี ทั้งที่ในปัจจุบันตลาดอสังหาฯไม่เอื้อต่อการพัฒนาโครงการใหม่"

ขณที่ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า เมื่อมีการนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกมาใช้ อัตราภาษีที่รัฐจัดเก็บถือว่าค่อนข้างสูงโดยเฉพาะหากเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพดานจัดเก็บอยู่ที่ 5% ผนวกกับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอีก 3.3 % (กรณีที่มีการเปลี่ยนมือก่อน 5 ปี เพื่อลดการเก็งกำไร ) อย่างไรก็ดี ตนมองว่าก็เป็นเรื่องที่แฟร์ และคิดว่าสังคมเองก็น่าจะเห็นด้วย

" ผมกลับมองว่าเป็นเรื่องที่แฟร์ เพราะหากถือครองเกิน 5 ปีแล้วขายก็ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ถือสั้นกว่านั้นก็ต้องเสีย และเมื่อรวมต้นทุนตั้งแต่ต้นทางที่ซื้อที่ดิน/ซื้อบ้านมาจนถึงปลายทางสุดท้ายที่มีการขาย ต้นทุนภาษีที่เกิดขึ้นทั้งหมด ผมยังเชื่อว่าสังคมน่าจะเห็นด้วย "

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,170
วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559