‘เจน นำชัยศิริ’ ดึงสมาชิกส.อ.ท.เจาะตลาดจีน พุ่งเป้ากลุ่มชนชั้นกลาง และบุกAECให้คึกคักมากขึ้น

07 พ.ค. 2559 | 12:00 น.
18 เมษายน 2559 ประกาศชื่อประธานส.อ.ท.คนใหม่อย่างเป็นทางการไปแล้ว และเป็นครั้งแรกที่บรรยากาศเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีการโหมโรงชิงเก้าอี้เหมือนเช่นทุกครั้งที่เลือกตั้งประธานส.อ.ท. เรียกว่าเส้นทางการก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ประธานส.อ.ท ของผู้ชายที่ชื่อ เจน นำชัยศิริ ไร้อุปสรรคทุกประการ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการยอมรับของสมาชิกในส.อ.ท. ในตัวตนของเจน ทั้งภาพลักษณ์ และวิสัยทัศน์ อีกทั้งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานในส.อ.ท.มาหลายยุคหลายสมัย

ล่าสุด "ฐานเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์พิเศษประธานส.อ.ท.คนที่ 16 อย่างเป็นทางการครั้งแรก ก่อนที่เจนจะเปิดห้องแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน 4 พฤษภาคม ถึงนโยบายและทิศทางของส.อ.ท.อย่างเป็นทางการถึงนโยบายการขับเคลื่อนและการสนับสนุนอุตสาหกรรมนับจากนี้ไป

โดยเจนกล่าวว่า ทันทีที่ได้รับแต่งตั้ง ก็ออกมาประกาศยุทธศาสตร์เชิงรุก ไปแล้ว 6 ข้อ ไล่ตั้งแต่ 1.เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยประสิทธิภาพ ผลิตภาพและนวัตกรรม 2.เสริมสร้างภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 3.เสริมสร้างความเข็มแข็งของอุตสาหกรรมด้วยการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ 4.เสริมสร้างโอกาสของอุตสาหกรรมด้วยการใช้ประโยชน์จากการเจรจาการค้า 5.เสริมสร้างอนาคตอุตสาหกรรมด้วยการพัฒนาบุคลากร 6.เสริมสร้างปัจจัยเอื้อต่อการประกอบการอุตสาหกรรม ลดอุปสรรคการดำเนินงานโดยผลักดันความร่วมมือกับภาครัฐ

เพิ่มขีดความสามารถขับเคลื่อนหลัก

โดยนโยบายที่จะขับเคลื่อนตัวหลักจะเป็นเรื่อง การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม เพราะถ้าเราช้ากว่านี้ เราอาจจะเพลี่ยงพล้ำตกขบวนได้ ซึ่งเวลานี้มองว่าปี 2559 เป็นปีที่เริ่มต้นเปิดตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อย่างเป็นทางการ แต่ทุกอย่างกลับเงียบมาก ไม่มีอะไรเคลื่อนไหว ซึ่งมองว่าตลาด 600 ล้านคนความจริงต้องคึกคักกว่านี้ แต่กลับเงียบ เราควรจะปลุกตลาดให้ขยับกว่านี้น่าจะดีกว่า

ทั้งนี้ในแง่ของส.อ.ท.ที่ผ่านมา เรื่องเออีซีเราเดินสายร่วมกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีไปบ้างแล้วก่อนหน้านี้ โดยการจัดอบรม สัมมนาให้ความรู้ ว่าเราต้องปรับตัวอย่างไร เดินสายไปในพื้นที่ภาคต่างๆ ในประเทศ
นับจากนี้ไปเราควรสำรวจตลาดให้ดีกว่านี้ โดยใส่เกียร์เดินหน้า จะมัวรอให้ลูกค้าเดินมาหาไม่ได้ เราต้องลงพื้นที่เจาะกลุ่มเป้าหมายในอาเซียน โดยเข้าไปเจาะฐานลูกค้าหาออร์เดอร์ในประเทศกลุ่มเออีซี โดยเลือกเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมนำร่องไปก่อน โดยดูว่าอุตสาหกรรมอะไรที่ไทยมีความพร้อม มีศักยภาพที่สุดออกไปหาออร์เดอร์ถึงแหล่งเป้าหมายให้ได้ก่อน

พึ่งแรงงานต่างด้าวเสี่ยงสูง

ส่วนเรื่องนวัตกรรมผลิตภาพของอุตสาหกรรม ก็จะเป็นอีกหัวข้อที่ต้องให้น้ำหนักมากหน่อย เพราะที่ผ่านมาเราพูดมาตลอดเรื่องขาดแคลนแรงงาน และเราก็แก้ปัญหาโดยใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าแรงงานต่างด้าวไม่ใช่คำตอบ และมีความเสี่ยงตรงที่แรงงานต่างด้าวอาจถูกดึงกลับได้ เพราะเมียนมาและกัมพูชา เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา จะดึงแรงงานกลับเมื่อไหร่ก็ได้ จึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานของเราเองโดยวิธีฝึกอบรม และหาเครื่องมือที่ทันสมัย เข้ามาทดแทน เช่น หุ่นยนต์ ระบบการผลิตที่อัตโนมัติ เราต้องก้าวไปสู่อินดัสทรี 4.0 ที่เอาเทคโนโลยีดิจิตอล อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อให้เครื่องจักรสามารถสื่อสารได้ สามารถผลิตได้ตามความต้องการของลูกค้า ไม่ใช่ผลิตเกิน หรือผลิตเผื่อขาด

"ปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในอินดัสทรี 2 คือเป็นแมส โปรดักต์ เป็นระบบสายพานผลิต ยังไม่ถึงอินดัสทรี 3.0 ที่มีเรื่องออโตเมชันเข้ามา และมีหุ่นยนต์บ้างเล็กน้อย แต่ยังไม่ถึงอินดัสทรี 4.0 ที่หุ่นยนต์จะสื่อสารกันเอง ใช้คนมาเกี่ยวข้องน้อยลง เครื่องจักรสามารถสื่อสารกันเองได้ และสามารถส่งกลับมาที่คน ซึ่งเป็นผู้ควบคุมเครื่องจักร ซึ่งในต่างประเทศเวลานี้จะมีระบบอัตโนมัติมากกว่าไทย แต่ก็ยังก้าวไม่ถึงอินดัสทรี 4.0ได้ทั้งหมด เราเองเมื่อเป็นอินดัสทรี 4.0 คนงานเราก็ต้องมีทักษะเพื่อรับอินดัสทรี 4.0 ได้ด้วย"

4 ภารกิจหลักต้องทำ

ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.จะแบ่งภารกิจออกเป็น 4 ด้านคือ 1.เรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน 2.ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก เพื่อให้ส.อ.ท.เป็นปึกแผ่น ตอบสนองอุปสรรคให้กับสมาชิกได้ โดยจะมีกลุ่มงานดูแลส่วนนี้อยู่ 3.ปัจจัยภายนอกที่เป็นประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ ภายในและภายนอกประเทศ และประเด็นทางด้านกฎหมาย เหล่านี้เราต้องทำให้เกิดโอกาสกับสมาชิกให้สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นได้ เช่น เรื่องการเจรจาทางการค้า การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในภูมิภาคที่เติบโต หรือในบางภูมิภาคที่ซบเซา โดยจะเน้นหาตลาดที่ไหนที่มีกำลังซื้อ ยกตัวอย่าง ตลาดจีน ที่เวลานี้เป็นที่ทราบกันว่าจีดีพีจีนเติบโตน้อยลง แต่การเติบโตที่ 6.9% นับเป็นการเติบโตของจีดีพีที่สูงกว่าไทยมาก ทำให้จีนยังเป็นตลาดเป้าหมายที่น่าสนใจอยู่ ยังมีกำลังซื้อมหาศาล

ดังนั้นถ้าเราจะเจาะตลาดจีน เราก็ต้องไปดู ไปเจาะพฤติกรรมว่าตลาดจีนเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน ถ้าเราเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของจีนได้จะเป็นประโยชน์มาก ทั้งนี้เนื่องจากมองว่าระยะหลังจีนมีชนชั้นกลางมากขึ้น ดังนั้นความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพจะมากขึ้นตามไปด้วย หากเข้าถึงได้จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยเติบโตได้เร็วขึ้น

"เวลานี้ผมมองว่าประชากรจีน 1.4 พันล้านคน ถ้าครึ่งหนึ่ง หรือราว 700 ล้านคน เป็นคนชั้นกลาง จะมีกำลังซื้อมหาศาล เราต้องคิดแล้วว่าวันนี้เราผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคจีนที่เป็นชนชั้นกลางได้หรือไม่ ตรงนี้จะเป็นการบ้านที่ผมและสมาชิกในส.อ.ท.จะต้องกลับไปคิดต่อ "

4.พระราชบัญญัติส.อ.ท. ในส่วนนี้เราจะต้องกลับไปถามสมาชิกว่า ช่วงที่ผ่านมามีกลุ่มอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นใหม่เกิน 10 กลุ่ม และส.อ.ท.จังหวัดก็เพิ่มขึ้นกว่า10 จังหวัด ดังนั้นพ.ร.บ.สภาอุตสาหกรรมฯจะต้องมีกรรมการเพิ่ม ถ้าดูตามวิธีเดิมจะมีกรรมการในส.อ.ท.เกิน 350 คน คำถามคือ ถ้ามีกรรมการมากขนาดนี้มากไปหรือไม่ และมีประสิทธิภาพหรือป่าว ก็ต้องหารือกันว่าถ้ามากไปควรลดกรรมการลงมาหรือไม่ ที่ผ่านมาเรื่องนี้ทุกคนยังมีความเห็นต่างกันอยู่ ซึ่งตรงนี้ผมต้องรับฟังความเห็นก่อน โดยจะเดินสายทำความเข้าใจให้เป็นเอกภาพ โดย 2 ปีนี้อยากเห็นความเห็นที่ตรงกันว่า พ.ร.บ.สภาอุตสาหกรรมฯ ควรจะแก้ไขไปทางไหนและเห็นตรงกันหรือไม่

เป้าหมายเพิ่มสมาชิกแตะหมื่นราย

นายเจนกล่าวอีกว่าภายใน 2 ปีที่นั่งเป็นประธานส.อ.ท.มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสมาชิกในส.อ.ท.จาก 9 พันรายเพิ่มเป็น 1 หมื่นราย จากที่ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการทั่วประเทศกว่า 2 แสนราย ฉะนั้นเป้าหมายที่ตั้งไว้ถือว่าเพิ่มเข้ามาน้อยมาก

เข้ามาจังหวะดีรัฐให้โอกาส

นายเจนกล่าวทิ้งท้ายว่า การเข้ามานั่งในเก้าอี้ประธานส.อ.ท.ในช่วงนี้ถือว่าเป็นจังหวะดี เพราะภาครัฐให้โอกาสภาคเอกชนค่อนข้างมากกว่าสมัยก่อน อีกทั้งยังให้ความร่วมมือในการแสดงความเห็นที่จะช่วยผลักดันในการที่จะเข้าไปเสริมเศรษฐกิจของประเทศได้ จึงเป็นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ก้าวหน้า ซึ่งในจังหวะนี้ต้องรีบไขว่คว้า ยกระดับอุตสาหกรรม ก่อนที่จะถูกคู่แข่งแซงหน้า

โดยประธานส.อ.ท.ป้ายแดงคาดหวังว่า ผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับตัวได้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก รับสภาพกับบริบททางการค้าโลกที่เปลี่ยนไปให้ได้ ถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทาย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559