TDRI ชี้ “ล็อคดาวน์เจ็บ แต่ไม่จบ” ย้ำ “เยียวยา" จำเป็น อย่าตั้งเงื่อนไขเยอะ

15 ก.ค. 2564 | 09:35 น.
อัพเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2564 | 17:03 น.

นักวิชาการ TDRI เชื่อ “ล็อคดาวน์ เจ็บแต่ไม่จบ” แนะรัฐเร่งฉีดวัคซีนพร้อมเตรียมแผนฉีดทุกปี ชี้โควิด “สร้างบาดแผล” ให้ประชาชน ย้ำจำเป็นต้องเยียวยา แนะรัฐ ใช้งบฟื้นฟูฯให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่ใช้ในกิจกรรมขั้นปฐม และอย่าตั้งเงื่อนไขเยียวยาเยอะ

นายนณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือ TDRI กล่าวในงาน Restart เศรษฐกิจไทยฝ่าภัยโควิด ว่า มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาล ด้วยการล็อคดาวน์ขณะนี้ อาจไม่ทำให้เห็นภาพการสิ้นสุดของการระบาดที่ชัดเจน เพราะการระบาดในรอบ 4 นี้ เป็นการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งควบคุมยาก

 

"สายพันธุ์เดลต้า ควบคุมยาก จึงเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อหลักหลายพันคนต่อวัน และถ้าคุมไม่ได้ จะเกิด สถานการณ์ Hammer and Dance หรือ  ล็อคดาวน์เจ็บ แต่ไม่จบ คือ เมื่อควบคุมได้ มีการเปิดประเทศ ก็จะต้องกลับมาล็อคดาวน์ใหม่วนไปเรื่อยๆ ทางออกที่ดีที่สุดคือ ฉีดวัคซีนให้ได้ตามแผน 100 ล้านโดสภายในปีนี้”

 

นายนณริฎกล่าวว่า “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า” ที่ถูกกำหนดเป็นวัคซีนหลักของไทย แต่ล่าสุด (15 ก.ค.64) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขบอกว่า มีการเลื่อนวัคซีน 61 ล้านโดสที่ตั้งเป้านำเข้ามาให้ครบภายในปลายปีนี้ เป็นช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นโจทย์ที่ภาครัฐจะต้องรู้แล้วว่าจะต้องทำอย่างไรให้มีวัคซีนให้คนได้มากกว่านี้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ควรพูดกัน

 

นายนณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส TDRI

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคิดหลังจากมีการฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดส พร้อมยกตัวอย่าง ประเทศอิสราเอล ที่มีการไล่ฉีดวัคซีนให้คนในชาติได้จำนวนมาก แต่ก็ยังพบตัวเลขผู้ติดเชื้อหลักพันคน แต่ประเด็นสำคัญคือ อัตราการเสียชีวิตลดลงเหลือเพียง 1-2 คนต่อวันเท่านั้น

 

ดังนั้น ภาวะนี้ ถือเป็นภาวะที่ต้องทำใจ เพราะการฉีดวัคซีนไม่ได้ช่วยให้คนไม่ติดเชื้อ แต่ช่วยให้คนไม่ตายได้ ทั้งนี้ โควิด-19 จะเป็น "โรคประจำปี" ซึ่งแปลว่าเราต้องไล่ฉีดวัคซีนไปเรื่อยๆ ทุกปี เมื่อครบปีแล้ว ต้นปีหน้าอาจต้องเริ่มนับใหม่หรือไม่ และควรต้องมีแผนเตรียมไว้หรือไม่

 

นายนณริฎ ยังแสดงความเป็นห่วงว่า โควิด-19 กำลังสร้าง “บาดแผล” ให้ประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงาน และกลุ่มที่กำลังจะกลายเป็นแรงงานในอนาคต ซึ่งขณะนี้พบว่า กลุ่มแรก ที่ล่าสุดมีเด็ก 700,000 คน ที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ซึ่งเด็กเหล่านี้ถือเป็นกำลังแรงงานที่สำคัญในอนาคต

 

กลุ่มที่ 2 คือ บัณฑิตจบใหม่ ที่ขณะนี้หางานยาก หรือ หางานได้แต่ไม่ได้ใช้ศักยภาพได้เต็มประสิทธิภาพ

 

กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มแรงงานที่ตกงานเพิ่มขึ้น จากอดีต 300,000 – 400,000 คนต่อปี เป็น 700,000 – 800,000 คนต่อปี โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีอายุหรือกลุ่มผู้พิการ ที่หลุดออกจากตลาดแรงงานแล้ว โอกาสที่กลับเข้ามาเป็นไปได้ยากขึ้น

พร้อมกันนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตุถึงการใช้เงินใน พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้าน โดยเฉพาะ งบสำหรับการฟื้นฟูฯ ที่ถือเป็นงบประมาณที่จะช่วยผลักดันให้เศษฐกิจเติบโตได้

 

จากการได้ดูรายละเอียดของ งบที่ถูกนำไปใช้ 2.53 แสนล้านบาท พบว่า ถูกนำไปใช้ใน “กิจกรรมขั้นปฐม” เช่น การสอนปลูกพืช ปลูกผัก หรือปลูกผลไม้

 

แม้เป็นเรื่องที่ดี แต่มองว่ายังไม่ตอบโจทย์ เพราะไทยมี SME ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพ แต่กลับนำเงินส่วนใหญ่ไปใช้ในกิจกรรมขั้นปฐม โดยฝากถึงรัฐบาล

 

ในส่วนของการใช้เงินกู้ ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ซึ่งมีอีก 1.7 ในส่วนของงบฟื้นฟูฯ ถ้าจะรีสตาร์ทเศรษฐกิจต้องตอบโจทย์ธุรกิจ ไม่ใช่เอาไปใช้แบบเดิม หรือเอาไปใช้สร้างเสาไฟกินรี หรืออะไรก็ไม่รู้

 

พร้อมแนะ โครงการแลนด์บริดจ์ หรือ โครงการคลองไทย ที่มีศักยภาพสูงมาก แต่ต้องทำให้ถูก ต้องคิดดีๆ มีเอกชนเข้าไปช่วย เพราะถ้าทำถูกจะสามารถกินได้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

 

รวมถึง การหาทางเชื่อมโยงโครงการรถไฟไทย-จีน จากโครงสร้างพื้นฐานที่ไทยมี เพื่อให้สามารถนำสินค้าไทยซึ่งเป็นที่ต้องการของโลกสูงมาก ขึ้นไปอยู่ในขบวนรถไฟให้ได้

 

พร้อมกันนี้ ยังทิ้งท้ายถึงสถานการณ์ 6 เดือนข้างหน้า ว่า ยังคงเหมือนเดิม เพราะไทยยังฉีดวัคซีนได้ไม่มากพอ ในขณะที่ "ต้นทุนของวัคซีนถูกกว่า ต้นทุนของผู้ติดเชื้อ"

 

พร้อมฝากถึงภาครัฐ ว่า การเยียวยายังจำเป็น และเป็นสิ่งที่ภาครัฐยังต้องทำ โดยเงิน 500,000 ล้านจะต้องเยียวยาให้เข้าถึงทุกคนอย่างแท้จริง

 

เพราะการเยียวยาที่ผ่านมามักมีผู้ที่หลุดจากการเยียวยาเสมอ และอย่าตั้งเงื่อนไขเยอะ ให้ฟังเสียงประชาชน เสียงเอกชน ซึ่งขณะนี้ภาคธุรกิจที่ต้องปิดกิจการและประชาชนที่ต้องกักตัวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ถือเป็นผู้เสียสละ ดังนั้น รัฐบาลต้องเข้าไปซัพพอร์ต