ไขข้อสงสัย ขายน้ำส้มอย่างไร ไม่ให้ติดข้อกฎหมาย

19 มิ.ย. 2564 | 03:35 น.

เปิดคำชี้แจงจากกรมสรรพสามิต กรณี แม่ค้าขายน้ำส้ม อ้างถูกล่อซื้อ และโดนปรับ 1.2 หมื่น พร้อมข้อแนะนำ “ขายน้ำส้มอย่างไร ไม่ให้ติดข้อกฎหมาย”

กลายเป็นประเด็นร้อน กับกรณีการล่อซื้อ “น้ำส้ม” จากผู้ค้าน้ำส้มรายหนึ่ง ที่โพสต์เฟสบุ๊ค ระบุ ถึงการถูกล่อซื้อด้วยการสั่งออเดอร์น้ำส้ม 500 ขวด แต่ท้ายที่สุดกลับโดนปรับเป็นเงิน 12,000 บาท ซึ่งโพสต์ดังกล่าวได้ถูกแชร์และมีการเข้ามาแสดงความคิดเห็นอย่างมากในโลกโซเซียล โดยเฉพาะประเด็นการตัดช่องทางทำมาหากินในยุคที่หลายคนตกอยู่ในภาวะลำบากหลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ล่าสุดนายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต ได้คลายข้อสงสัยถึงประเด็นต่างๆ  กับ ฐานเศรษฐกิจ ดังนี้

- ขายน้ำส้มอย่างไร ไม่ให้ติดกฎหมาย

นายณัฐกร กล่าวว่า หลักง่ายๆ คือ ถ้าเป็นน้ำส้มคั้นสด ปิดฝา ปิดผนึก ทำเองขายเองไม่เป็นไร แต่หากส่งไปขายที่อื่น จะเข้าหลักเกณฑ์ อย. คือ เรื่องของอุณภูมิที่มีการเปลี่ยนแปลง หัวเชื้อผสม คุณภาพของเครื่องดื่ม ซึ่งมีความเสี่ยงต่อผู้บริโภค และเข้าเกณฑ์กฎหมายสรรพสามิต ที่ต้องจดทะเบียนสรรพสามิตสำหรับผู้ประกอบอุตสาหกรรม

“หากมีการจดทะเบียนถูกต้องสินค้าเครื่องดื่มเหล่านี้จะถูกตรวจสอบปริมาณน้ำตาลและสารปนเปื้อนต่างๆ ซึ่งถือเป็นการช่วยดูแลผู้บริโภคทางหนึ่ง ดังนั้นจึงไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัวว่าขนาดไหนถึงเรียกขายส่ง และขนาดไหนถึงเรียกผู้ประกอบอุตสาหกรรม แต่หากปฏิบัติตามกฎหมายจริงๆ  คือ หากผลิตและส่งขายที่อื่น ถือเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรม” นายณัฐกร กล่าว

- หากเจอเหตุการณ์เดียวกับ “แม่ค้าน้ำส้ม”

โฆษกกรมสรรพสามิต แนะหากมีเจ้าหน้าที่สรรพสามิตเข้าตรวจสอบ ให้ผู้ค้าตรวจสอบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของสรรพสามิตจริงหรือไม่ โดยสามารถโทรสอบถามที่หมายเลข 1713 สายด่วนกรมสรรพสามิตได้ทันที รวมถึงดูว่าหลักฐานที่มีการกล่าวอ้าง เป็นเหตุเป็นผลมากน้อยแค่ไหน

นายณัฐกร อุเทนสุต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต

- เป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพสามิตจริง

เหตุการณที่เกิดขึ้น นายณัฐกร ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ที่ปรากฎตามภาพข่าวนั้น เป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพสามิตจริง ซึ่งกรมสรรพสามิต ได้ส่งเจ้าหน้าที่สรรพสามิตลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานที่จำหน่ายน้ำส้มที่เกิดเหตุ หลังได้รับแจ้งจากผู้ผลิตที่มีการเสียภาษีถูกต้อง ว่ามีบางโรงอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มที่ไม่ได้มาตรฐานและยังไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต

“จากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กรมฯ จึงผ่อนปรนความเข้มงวดลง แต่เนื่องจากมีการแจ้งเบาะแสเข้ามาจากผู้ค้าที่มีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ซึ่งมองว่าไม่เป็นธรรม เพราะผู้ค้าน้ำส้มรายนี้ขายสินค้าในลักษณะเดียวกัน แต่กลับไม่เสียภาษี กรมฯ จึงต้องลงพื้นที่ตรวจสอบ มิฉะนั้นจะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” นายณัฐกร กล่าว

- สั่งผลิตน้ำส้มจำนวน 500 ขวด เพื่อใช้เป็นหลักฐาน

นายณัฐกร กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องสั่งซื้อน้ำส้ม เพื่อให้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าผู้ค้ารายนี้ สามารถผลิตสินค้าได้ในจำนวนมาก มีการใช้เครื่องจักรสำหรับแพคบรรจุภัณฑ์เพื่อปิดสนิท มีการติดสลากที่ตัวบรรจุภัณฑ์ และมีการส่งเพื่อจำหน่ายต่อในพื้นที่อื่นจริง (ขายส่ง) ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมตามกฎหมายสรรพสามิต และยังมีเรื่องของภาษีความหวานเข้ามาเกี่ยวข้อง

“ความหมายของการล่อซื้อ คือ ต้องมีการจับกุมและมีการยึดของกลางมาดำเนินคดี วันนี้เราไม่ได้จับกุม ไม่ได้มีการยึดของกลางมาดำเนินคดี  เราเพียงแต่แนะนำว่าการกระทำแบบนี้เข้าข่ายจะต้องเสียภาษี ท่านควรจดทะเบียนและทำให้ถูกต้อง และเราก็กลับ ซึ่งหากเราเข้าไปแล้วเห็นแค่เครื่องจักร แต่ไม่เห็นสินค้า พูดไปเขาอาจไม่ฟัง จึงต้องใช้วิธีการสั่งซื้อเพื่อให้มีสินค้าเกิดขึ้น และสินค้านั้นผู้ค้าก็ยังสามารถนำไปจำหน่ายต่อได้ เนื่องจากไม่ได้มีการอายัด” นายณัฐกร กล่าว

- เงินค่าปรับ 12,000 บาท

นายณัฐกร ระบุว่า จากการสอบถามเจ้าหน้าที่สรรพสามิตที่ลงพื้นที่ในวันนั้น เบื้องต้นทราบว่าไม่ได้มีการเรียกค่าปรับเป็นเงิน 12,000 บาทตามข่าวที่ปรากฎแต่อย่างใด โดยเจ้าหน้าที่ได้ตักเตือนและให้คำแนะนำเพื่อให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีอย่างถูกต้อง ส่วนตัวเลข 12,000 บาทนั้น มาจากการคำนวณภาษี ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตปี 2560  สินค้าเครื่องดื่มประเภทเครื่องดื่มอื่นๆ และประเภทน้ำผลไม้และน้ำพืชผัก ซึ่งจะต้องเสียภาษีความหวานซึ่งรวมถึงน้ำผลไม้ที่มีปริมาณน้ำตาลหรือสารให้ความหวานอื่นๆ ตั้งแต่ 6 กรัมขึ้นไปต่อเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร โดยเจ้าหน้าที่ได้คำนวณอัตราภาษีตามราคาสินค้าบวกค่าปรับ 10 เท่าเนื่องจากไม่ได้มีการจดทะเบียนโรงอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่ม 

- สั่งย้ายเพื่อสอบข้อเท็จจริง

วันที่ 17 มิถุนายน 2564 อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้สั่งให้มีการย้ายเจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่ในวันดังกล่าว เพื่อสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ประเด็นเรียกค่าปรับผู้ค้าน้ำส้มเป็นเงิน 12,000 บาท จริงหรือไม่

“ฝากถึงผู้ค้าน้ำส้ม หากมีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า เจ้าหน้าที่ของกรมสรรพสามิตมีการเรียกเก็บเงินค่าปรับจำนวน 12,000 บาท ขอให้ส่งหลักฐานมาที่กรมสรรพสามิตเพื่อดำเนินการลงโทษเจ้าหน้าที่ต่อไป สำหรับขั้นตอนการสอบข้อเท็จริง จะรู้ผลภายใน 15 วัน หากพบกระทำผิดจริง จะถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัย และดำเนินการลงโทษตามขั้นตอนต่อไป พร้อมยืนยันกรมฯ ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย” นายณัฐกร กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

อย. แจงน้ำส้มขายปลีกไม่ต้องขออนุญาต

“ไม่ได้ปรับแม่ค้าน้ำส้ม 1.2 หมื่น” สรรพสามิต แจงแค่ส่ง จนท.ไปเตือน