ซอฟต์โลนไม่มีจริง SMEs เจ๊งระนาว

15 พ.ค. 2564 | 20:05 น.

SMEs ไทย 3.1 ล้านรายระส่ำหนัก สมาพันธ์ฯวอนรัฐยื่นมือช่วยเหลือต่อท่อหายใจ ยืดระยะเวลาจ่ายภาษี 90 วันหวังกำเงินสดลงทุนต่อ ตั้งกองทุนเพิ่มสภาพคล่องฯ -ฟื้นฟู NPL หนุนผู้ประกอบการที่เข้าไม่ถึงซอฟต์โลนกว่า 50%

ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีไทย ที่มีมากกว่า 3.1 ล้านราย ต้องเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก แม้ภาครัฐจะมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือ ซอฟต์โลน รวมวงเงินที่ออกไปแล้วราว 1.3 แสนล้านบาท ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการกว่า 7.4 หมื่นราย แต่ยังมีผู้ประกอบการอีกกว่า 50% ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ ปัญหาด้านสภาพคล่องจึงเข้าขั้นโคม่า

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธาน สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 นี้ ส่งผลกระทบรุนแรงกว่าระลอกแรกและระลอก 2 แม้วันนี้จะเริ่มฉีดวัคซีนแล้ว แต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังได้รับผลกระทบหนักอยู่ไม่ว่าจะเป็นการขาดสภาพคล่องจากยอดขายที่หายไป รวมถึงกำลังซื้อที่ลดลง โดยเรื่องเร่งด่วนที่ภาครัฐจะต้องยื่นมือเข้ามาช่วยคือ การยืดขยายระยะเวลาการชำระเงินภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ออกไป 90 วันเช่นเดียวกับปีก่อน เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนไปหมุนเวียน

เข้าไม่ถึงซอฟต์โลน

“การที่ภาครัฐยืดระยะเวลาชำระภาษีออกไป 30 วันจาก 31 พ.ค. เป็น 30 มิ.ย.นั้นมองว่าน้อยเกินไป เราขอยืนยันว่าระยะเวลา 90 วันเป็นช่วงที่เหมาะสมและจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงวิกฤติโควิดระลอกใหม่นี้ได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาหายใจ ต่อท่อหายใจออกไป ซึ่งการขอยืดเวลา ไม่ได้หมายความว่า ทำให้ภาครัฐเก็บรายได้จากภาษีไม่ได้ แต่หากมีเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถชำระภาษีได้ทัน ก็ต้องเสียค่าปรับ จะกลายเป็นการซ้ำเติม”

ต่อกรณีที่ภาครัฐมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือ Soft Loan จำนวน 2.5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยพยุงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรวมกว่า 3.1 ล้านราย แบ่งเป็นรายใหญ่ รายกลางน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นรายย่อมกว่า 4 แสนราย และรายย่อยกว่า 2.6 ล้านราย ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีการปล่อยกู้ไปแล้วราว 8 หมื่นราย แต่ดูไส้ในจะพบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหญ่และรายกลางที่มีวงเงินกู้หลัก 100-500 ล้านบาท และกว่า 50% เข้าไม่ถึงระบบหรือเข้าถึงระบบแต่ตกหล่นไม่ผ่านการพิจารณา

หวั่นหนี้นอกระบบพุ่ง

สิ้นปี 2563 มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ค้างชำระหนี้เกิน 3 เดือน หรือ NPL อยู่กว่า 2.5 แสนล้านบาท และมีกลุ่มที่ค้างชำระหนี้ระหว่าง 1-3 เดือนอีกกว่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งแม้ว่ากลุ่มนี้จะยังเป็นตัวเหลืองซึ่งต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ หากตกหล่นหรือไม่ได้รับการพิจารณาปล่อยกู้ก็มีโอกาสที่จะเป็นตัวแดงหรือ NPL ได้ ซึ่งหากรวมทั้งสองกลุ่มก็จะมีตัวเลขเกือบ 8 แสนล้านบาท ซึ่งไม่อยากให้ภาครัฐมองข้ามกลุ่มนี้ ควรมีมาตรการผ่อนปรนให้รายย่อมและรายย่อยเหล่านี้เข้าถึงแหล่งเงินทุน

ผู้ประกอบการsmeไทย

“SMEs ที่ตกคัดกรอง ภาครัฐควรจะมีแพลทฟอร์มรองรับ เช่น กองทุนเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี, กองทุนฟื้นฟู NPL เพื่อการพัฒนา SMEs เป็นต้น เพื่อช่วยพยุงธุรกิจให้เดินต่อได้ หากปล่อยให้กลุ่มนี้เดินตามยถากรรม ก็ต้องหันหน้าไปกู้หนี้นอกระบบ ดอกเบี้ย 15-30% ก็จะเห็นวงจรอุบาทว์วนกลับมาอีก”

อีกหนึ่งมาตรการที่เชื่อว่าจะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เร็วขึ้น คือมาตรการ P/O Factoring การนำใบสั่งซื้อสินค้าจากคู่ค้า มาใช้ประกอบกับเครดิตและประวัติของผู้ประกอบการ เพื่อยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ในวงเงิน 30-50% เพื่อนำมาใช้เพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจและเมื่อขายสินค้าได้ ธนาคารก็เรียกเก็บเงินจากคู่ค้า ส่วนที่เหลือก็คืนให้กับผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ดียังมีอีกหลายมาตรการที่ภาครัฐสามารถยื่นมือลงมาช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ เพียงขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาร่วมมือกัน ผลักดันในหลายมาตรการให้เดินหน้าต่อ

เปิดวงหาทางเยียวยา

ด้านนางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าขณะนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีระส่ำระสายมาก โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหาร แผงลอยในตลาดสด ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆของภาครัฐ ทั้งการทำงานที่บ้าน (WFH) และการห้ามรับประทานในร้าน ขณะที่ตัวเลขการสั่งซื้อดีลิเวอรีก็ลดลง จาก 2 สาเหตุได้แก่ กำลังซื้อที่ลดลงและความหวาดกลัวการติดเชื้อจากผู้ส่งอาหารจึงเลี่ยงวิธีสั่งซื้อดีลิเวอรี

ดังนั้นจะเห็นว่าหลายธุรกิจที่ต้องการพยุงตัวจากเดิมที่เริ่มกลับมาลงทุนในช่วงปลายปีก่อนก็ต้องปรับแผนลดการลงทุนใหญ่ ลดสินค้าในสต๊อกด้วยการจัดโปรโมชั่น เพื่อไม่ให้เงินจม ขณะที่แผนการลงทุนในไตรมาส 3 และ4 ที่จะมาถึงก็ต้องปรับใหม่ เพื่อรักษาสภาพคล่อง

“50-70% ของผู้ประกอบการ SMEs ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ และไม่มีเทคโนโลยีหรือเซิร์ฟเวอร์รองรับการทำงาน การประสานงานจึงขาดจิ๊กซอว์ ซึ่งจากการแลกเปลี่ยนในกลุ่มผู้ประกอบการจะพบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 1 ใน 3 ต้องเลย์ออฟพนักงาน ขณะที่ 1 ใน 4 ถ้าไม่ดาวน์ไซส์ธุรกิจก็ต้องปิดกิจการไป และกว่า 50% มีการเปลี่ยนธุรกิจหรือหาธุรกิจเสริมมารองรับ”

อย่างไรก็ดี หากภาครัฐคิดจะเยียวยาหรือช่วยเหลือ SMEs ควรเปิดวงให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมพูดคุยเพื่อวางแผนระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว โดยแยกตามรายธุรกิจ ไม่ใช่ช่วยเรื่องของการลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ การจ่ายภาษี ฯลฯ เพราะไม่ได้ลงลึกถึงปัญหาที่แท้จริง เช่น เอสเอ็มอีรายใหญ่อาจจะต้องการเรื่องของการคืนภาษีให้เร็วขึ้น ขณะที่รายย่อมและรายย่อยอาจจะต้องการเรื่องของเครดิตเทอม เพื่อให้มีเงินมาหมุนเวียน ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหาของแต่ละอุตสาหกรรมก็แตกต่างกัน

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,679 วันที่ 16 - 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :