สภาพคล่องแบงก์ล้น 5 ล้านล้าน

29 ม.ค. 2564 | 21:30 น.

เงินฝากท่วมแบงก์ ปี 63 โตพุ่ง 1.6 ล้านล้าน สวนทางสินเชื่อขยับ 9.5 แสนล้าน ส่งผลยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องสูงกว่า 188% เหตุผู้ฝากไม่มีทางเลือก แม้ดอกเบี้ยตํ่า ทีเอ็มบีชี้ปี 64 เงินฝากมีโอกาสแตะ 15 ล้านล้านบาทเป็นครั้งแรก 

 

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหลายครั้งติดๆกัน เพื่อดูแลเศรษฐกิจและลดภาระให้กับประชาชน ทำให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกตํ่าลงจากปัจจุบันที่ตํ่าอยู่แล้วและอาจตํ่าไปอีกนานรวมถึงไทยด้วย แต่จากการรายงานผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)พบว่า ยอดเงินฝากสิ้นปี 2563 เพิ่มขึ้น 1.6 ล้านล้านบาท มาแตะที่ระดับ 14 ล้านล้านบาท 

 

สวนทางกับสินเชื่อที่ขยับขึ้น 9.5 แสนล้านบาท ทำให้มีวงเงินคงค้างทั้งสิ้น 13 ล้านล้านบาท สะท้อนเงินฝากขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะส่วนใหญ่ธนาคารยังไม่รุกปล่อยสินเชื่อในระบบมากนัก และการเพิ่มขึ้นของเงินฝากเป็นการโยกย้ายเงินฝากจากบัญชีเงินฝากประจำไปพักในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และจ่ายคืนเมื่อทวงถาม (CASA) รับดอกเบี้ยเพียง 0.25% โดยส่วนใหญ่ธนาคารมียอดเงินฝากปรับเพิ่มขึ้นเช่น เกียรตินาคิน  เพิ่มขึ้น 46% กรุงเทพ เพิ่มขึ้น 19% กรุงศรี อยุธยาเพิ่มขึ้น 17% กสิกรไทยเพิ่มขึ้น 13% ไทยพาณิชย์เพิ่มขึ้น 12% และแอลเอชเอฟจีเพิ่มขึ้น 11% 

 

ส่วนธนาคารพาณิชย์ที่เงินฝากออมทรัพย์เพิ่มขึ้น เห็นได้จากธนาคาร กรุงศรีอยุธยาเพิ่มขึ้น 44.4% แต่เงินฝากประจำปรับลดลลง 0.3% ไทยพาณิชย์เพิ่มขึ้น 27.7% เงินฝากประจำลดลง 19.4% ธนาคาร กรุงเทพเพิ่มขึ้น  27% เงินฝากประจำยังเพิ่มขึ้น 9% ธนาคารกรุงไทยเพิ่มขึ้น 22% เงินฝากประจำลดลง 7% สำหรับธนาคารที่มีสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์สูงได้แก่ ธนาคาร กรุงไทยและกสิกรไทย มีสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์ 74% ไทยพาณิชย์ 73% กรุงเทพ 51% และกรุงศรีอยุธยา 47% เป็นต้น 

ยอดคงค้างสินเชื่อธนาคารพาณิชย์

 

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ยอดเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำที่ปรับลดลง ซึ่งบางธนาคารลดลงเกือบ 20%  เกิดจากการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดต้นทุนดอกเบี้ยเงินฝาก โดยไม่มีแคมเปญเงินฝากประจำเหมือนที่ผ่านๆมา ทำให้ลูกค้ากลับไปฝากเงินในบัญชี CASA ซึ่งบัญชี CASA เติบโตมากขึ้น บางธนาคารโต 40% หรือ 25% โดยทีเอ็มบีประเมินภาพรวมเงินฝากทั้งระบบปี 2564 น่าจะแตะ 15 ล้านล้านเป็นครั้งแรก 

 

ทั้งนี้ เงินฝากที่เติบโตขึ้นมาจากเงินฝากของกลุ่มบริษัทที่รวมบริษัทใหญ่และเอสเอ็มอีเติบโต 16% ยอดคงค้างเงินฝากอยู่ที่ 3.96 ล้านล้านบาท ตามด้วยเงินฝากของรายย่อยที่เติบโต 11% ยอดคงค้างเงินฝาก 8.26 ล้านล้านบาท หลักๆมาจากบัญชีเงินฝาก CASA สะท้อนว่า ทั้งบริษัทและรายย่อยลดความเสี่ยง เก็บเงินสด ซึ่งนับเป็นภาพรวมของปี 2563 แม้ว่าครึ่งหลังปีที่ผ่านมา จะมีเงินฝากรายย่อยบางส่วนไหลเข้าไปลงทุนในตลาดทุนแต่เงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ยังเติบโต เนื่องจากบริษัทและรายย่อยเก็บกระแสเงินสด ไม่มีใครลงทุนหรือใช้จ่าย ต่างนำเงินมาฝากกับธนาคาร ประกอบกับไม่มีดีมานด์สินเชื่อในภาคธนาคาร คนไม่มากู้เพิ่ม 

 

ดังนั้น ยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารในระบบสูงมากเกือบ 5 ล้านล้านบาทหรือ 4.9 ล้านล้านบาท ประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิภายในระยะเวลา 30วัน (LCR) มีสัดส่วนสูงกว่า 188% ซึ่งในจำนวนนี้ หลักๆอยู่ในพันธบัตร รองลงมาคือ ปล่อยกู้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) คือ เป็นเงินลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล 2.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 57% ของเงินฝากทั้งระบบ ส่วนนี้สนับสนุนให้ราคาพันธบัตรสูงขึ้น เพราะความต้องการสูง แม้ว่าอัตราผลตอบแทนตํ่า แต่เพราะผู้ฝากเงินไม่มีทางเลือกมากนัก ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรหรือ บอนด์ยิลด์ปรับลดลง อีกส่วนหนึ่งปล่อยกู้ธปท.ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินสดประมาณ 2.5 แสนล้านบาท 

 

“ธีมของปี 2564 ถ้าสภาพเศรษฐกิจไม่แน่นอน ทั้งบริษัทและรายย่อยจะลดความเสี่ยง เก็บเงินสด รักษาสภาพคล่อง โดยเลือกพักบัญชีเงินฝากระยะสั้นไว้เป็นสภาพคล่องที่ถอนออกได้ และสภาพตลาดไม่มีความต้องการเงินกู้ ซึ่งเงินฝากที่ค้างไว้ในบัญชี CASA มากเกินไป ทำให้ต้นทุนทางการเงินของแบงก์ไม่สูงเพราะจ่ายดอกเบี้ย เพียง 0.25%ต่อปี ซึ่งเป็นการลดต้นทุนให้แบงก์ทางอ้อม จึงควรปรับพอร์ตไปยังบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่จ่ายดอกเบี้ยสูง”

 

นางธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดกล่าวว่า แนวโน้มเงินฝากของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 14 แห่งปี 2564 มีโอกาสจะเติบโตกว่า 4%(4.5-5.5%) จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนและการระบาดของโควิดรอบสองช่วงต้นปี 2564 ทำให้เงินฝากเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัยของทั้งภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป ส่วนความต้องการสินเชื่อ น่าจะเติบโตใกล้เคียงกับเงินฝากที่ 4% แม้ว่าจีดีพีปีนี้จะกลับมาเป็นบวกได้ แต่ความต้องการสินเชื่อขั้นพื้นฐานจากภาคธุรกิจยังไม่กลับมาเร็ว โดยต้องรอประเมินสัญญาณเศรษฐกิจและความต้องการสินเชื่ออีก 2 เดือน ถ้าความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นมาก ก็อาจจะทำให้ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นได้ 

 

ที่มา : หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,648 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

6 แบงก์กำไรลดฮวบ 1 หมื่นล้าน

แบงก์ไทยปี 2564 หลังปิดปี 2563 เงินสำรองเพิ่มกว่า 40.56%

3แบงก์ใหญ่ตั้งการ์ดสำรองสูง กดดันกำไรสุทธิปี2563