หุ้นค้าปลีก-ห้าง-โรงแรมคึกรับมาตรการรัฐ

08 ก.ย. 2563 | 05:50 น.

กลุ่มค้าปลีก-ห้าง-โรงแรม คึกคักรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ โบรกเผยร้านสะดวกซื้อรับประโยชน์มากที่สุด หลังรัฐบาลมุ่งเน้นฐานราก คาดดึงเงินคนที่มีเหลือช่วยผู้ที่ขาดเงินได้มากขึ้นชี้ช่วยกระตุ้นสภาพคล่องเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

ในภาวะที่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกในปัจจุบัน ทำให้แต่ละประเทศต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน โดยมาตรการล่าสุดของรัฐบาลไทย หลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ จากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.)เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 มาตรการหลักคือ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย “คนละครึ่ง” วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท โดยรัฐจะให้เงินสนับสนุนการใช้จ่ายคนละไม่เกิน 3,000 บาท เพื่อเอาไปใช้จ่ายซื้อของในร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่เป็นรายย่อย 

 

มาตรการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและภาคเอกชน นำเสนอโดยกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้จบการศึกษาใหม่ รวมถึงปรับปรุงมาตรการเราเที่ยวด้วยกันเพิ่มเติม ส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มที่อิงการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศที่ต่างตอบรับในเชิงบวก

นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัดเปิดเผยว่า ถึงแม้ปัจจุบันรัฐบาลไทยจะขาดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังนายปรีดี ดาวฉายลาออกมีผลเมื่อวัน 1 กันยายน 2563 ซึ่งประเด็นที่ให้นํ้าหนัก คือ การสรรหาบุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังคนใหม่จะเป็นใคร และใช้เวลาสรรหายาวนานหรือไม่ แต่รัฐบาลยังเดินหน้าผลักดันออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายเดือนกันยายน- ธันวาคม ปี 2563 ออกมา

หุ้นค้าปลีก-ห้าง-โรงแรมคึกรับมาตรการรัฐ

 

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการชิมช็อปใช้ เบื้องต้นรัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย 50% ประชาชนออก 50% ในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน และรัฐกำหนดจ่ายเงินให้ 100-200 บาทต่อวันต่อคน วงเงินรวม 45,000 ล้านบาท และการส่งเสริมการจ้างงานผู้จบการศึกษาใหม่ ซึ่งรัฐจะสมทบจ่ายกับนายจ้างไม่เกิน 50% ของค่าจ้าง หรือ 7,500 บาท ระยะเวลา 1 ปี วงเงินรวม 23,000 ล้านบาท โดยรวมทั้ง 2 มาตรการถือว่าช่วยกำลังซื้อของไทยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 เป็นต้นไป 

 

ทั้งนี้ ให้นํ้าหนักไปที่มาตรการชิมช็อปใช้มากกว่า หากพิจารณากลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากรัฐมุ่งไปที่ฐานราก เช่น หาบเร่ แผงลอย และร้านสะดวกซื้อ รวมถึงอาหารเครื่องดื่มในร้านสะดวกซื้อคาดว่าจะได้ประโยชน์เช่นกัน ขณะที่ มาตรการปรับปรุงโครงการ “เราไปเที่ยวกัน” ให้ดีขึ้น และเพิ่มในส่วนของให้ข้าราชการหยุดเพิ่มได้ 2 วัน เชื่อว่าหุ้นที่ได้ประโยชน์ คือ ธุรกิจโรงแรมในประเทศ, ธุรกิจอาหาร และสายการบิน

 

ด้านบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายรอบนี้มีจุดดีตรงที่เป็นการร่วมจ่าย จึงน่าจะช่วยดึงเงินของผู้ที่มีเงินเหลือไปช่วยผู้ที่ขาดเงินได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นสภาพคล่องและการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจได้ดีกว่าการที่รัฐบาลเป็นผู้จ่ายฝ่ายเดียว ทั้งนี้ สำหรับมาตรการที่ออกมาแล้วจะช่วยหนุนดัชนีหุ้นไทยในช่วงวิกฤตเช่นนี้ แต่ยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการทางภาษี ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือค่าครองชีพ 

ขณะเดียวกัน ทุกครั้งที่มีมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ กลุ่มที่มัก Outperform คือ ค้าปลีก อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าไอที และไฟแนนซ์ แต่เนื่องจากรอบนี้เน้นกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และผู้ประกอบการขนาดเล็ก กลุ่มที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจึงเป็นค้าปลีกที่เน้นอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งนี้ ยังต้องติดตามปัจจัยการเมืองในประเทศ ที่อาจกระทบกับความต่อเนื่องในการออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในอนาคต

 

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า มีมุมมองเป็นบวกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการแจกเงินดังกล่าว อีกทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจเปิดโอกาสให้ใช้ในร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าด้วยนอกเหนือจากผู้ประกอบการรายย่อยที่ลงทะเบียน จึงคาดว่าจะส่งผลดีให้กลุ่มค้าปลีกในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย โดยหุ้นที่ได้ประโยชน์จะเป็นกลุ่มที่เน้นเกี่ยวกับการบริโภคอุปโภคในชีวิตประจำวัน รวมถึงผลดีต่อ supplier ของร้านสะดวกซื้อ และกลุ่มห้างสรรพสินค้า 

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,607 วันที่ 6 - 9 กันยายน พ.ศ. 2563