ผวาโควิดรอบ2 ดันราคาทองพุ่ง

12 ก.ค. 2563 | 06:30 น.

กูรูทองคำเผย ราคาทองคำยังเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง รับปัจจัยบวกจากความกังวลไวรัสโควิด-19 ระบาดรอบสองหลังสหรัฐติดเชื้อพุ่งสูง หวั่นปิดเศรษฐกิจอีกครั้งชี้เฟดทำคิวอีไม่จำกัดวงเงินหนุนทองคำปลอดภัย คาดราคาทองคำแตะ 27,000-28,000 บาท

การลงทุนที่ผ่านมาไม่ว่าจะในสินทรัพย์ใดก็ล้วนแต่มีความเสี่ยง ไม่เว้นแม้แต่ทองคำ ที่ถึงแม้จะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แต่ก่อนหน้านี้เคยปรับลดลงจนทำให้นักลงทุนหลายรายต้องถือไว้นานนับปี จากราคาที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วและลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ราคาทองคำในประเทศอยู่ที่บาทละ 26,700 บาท ปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 8 ปี 10 เดือน จากวันที่ 6 กันยายน 2554 อยู่ที่บาทละ 27,100 บาท ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ปรับเพิ่มขึ้น 5,150 บาท จากวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ราคาทองคำปิดที่บาทละ 21,450 บาท

นายกฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุกเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมราคาทองคำยังเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยบวกจากการระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ จากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มต่อเนื่องเฉลี่ยถึง 61,000 รายต่อวัน ทำให้ต้องกลับมาล็อกดาวน์เศรษฐกิจอีกครั้ง รวมถึงที่ผ่านมา มีแรงหนุนจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0% และอัดฉีดเงินคิวอีเข้าระบบแบบไม่จำกัดวงเงิน ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐไม่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และหนุนให้ทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอีกครั้ง 

ผวาโควิดรอบ2 ดันราคาทองพุ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 ที่มีการใช้มาตรการคิวอีระยะเวลาประมาณ 2 ปีครึ่ง ทำให้ราคาทองคำค่อยๆ ปรับขึ้นจาก 1,200-1,900 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ปรับขึ้นสูงสุดในต้นเดือนพฤศจิกายน 2554 จากนั้นได้ปรับลดลงมาตลอด 7-8 ปี แต่สถานการณ์ปัจจุบันระยะเวลาเพียง 4 เดือนในการทำคิวอี ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่า และมีระยะเวลาที่สั้นกว่า จึงมองว่า ราคาทองคำกำลังกลับไปทดสอบและมีโอกาสไปถึงจุดสูงสุดเดิม โดยคาดว่า จะอยู่ที่ประมาณ 1,930 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และราคาทองคำในประเทศปลายปีนี้อยู่ที่ประมาณบาทละ 28,000 บาท

“นอกจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว การทำคิวอีของเฟดถือเป็นปัจจัยหนุนมาก เพราะการทำครั้งนี้สร้างหนี้กว่า 220% ต่อจีดีพี สูงกว่าไทยมาก ขณะที่ ราคาทองคำในประเทศยังต้องติดตามค่าเงินบาท ซึ่งคาดว่า จะไม่แข็งค่ามาก อีกทั้งกำลังกลับไปสลับอ่อนค่าอีกครั้ง หากค่าเงินยังคงเดิมจะทำให้ราคาทองคำสามารถปรับขึ้นได้อีกประมาณ 1,500 บาท โดยแนะนำนักลงทุนให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แบ่งเงินลงทุนในทองคำบ้าง และเข้าซื้อเมื่อราคาย่อลงเมื่ออยู่ที่ประมาณ 1,795 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์”

นายธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฮั่วเซ่งเฮงกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ราคาทองคำที่ปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 9 ปี มาจากความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสอง รวมถึงความคาดหวังธนาคารกลางทั่วโลกจะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเพิ่มมากขึ้น 

นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกชี้แจงว่า การแพร่ระบาดของไวรัสวิด-19 ในอเมริกาเหนือยังไม่ถึงจุดสูงสุด ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อเศรษฐกิจอาจจะทรุดต่อ และสงครามการค้าสหรัฐกับจีนที่เริ่มกลับมาอีกครั้ง ทำให้ราคาทองคำทะลุแนวต้าน 1,820 และ 1,830 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ขณะที่ราคาทองคำในปีนี้ และปี 2564 มองว่า ยังเป็นขาขึ้น โดยมองแนวรับอยู่ที่บาทละ 26,300 บาท ส่วนแนวต้านอยู่ที่บาทละ 27,000 บาท และปลายปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1,850 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือ บาทละ 27,000 บาท ด้านกองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF) ในครึ่งปีแรกปีนี้ เข้าซื้อสุทธิในทองคำปีนี้ประมาณ 734 ตัน หรือมูลค่าประมาณ 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นจำนวนและมูลค่าสูงสุดกว่าทุกปีที่ผ่านมา สะท้อนมุมมองของสถาบัน และนักลงทุนรายใหญ่ที่มีต่อการกระจายความเสี่ยง และยังมีความไม่แน่นอนในอนาคต

นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG)กล่าวว่า 5 ปัจจัยที่มีผลต่อราคาทองคำคือ ความเสี่ยงจากการระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 ที่กดดันเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่อง, การทำคิวอีแบบไม่จำกัดวงเงิน และการส่งสัญญาณดำเนินนโยบายดอกเบี้ยระดับตํ่าที่ 0-0.25% ไปจนถึงปี 2565, สงครามการค้าสหรัฐกับจีน, ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งชายแดนจีน-อินเดีย สหรัฐ-อิหร่าน คาบสมุทรเกาหลี รวมถึงการเลือกตั้งสหรัฐ และกองทุนทองคำขนาดใหญ่ SPDR กับธนาคารกลางต่างๆ ถือครองทองคำเพิ่มขึ้น 

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,591 วันที่ 12 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563