สกัดโกง “พรก.เงินกู้" วิษณุ เรียกถกด่วนวันนี้

21 มิ.ย. 2563 | 21:00 น.

รัฐบาล เดินหน้าวางกลไก สกัดการทุจริต “พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน” โดย รองนายกฯวิษณุ เรียกประชุม ศอตช. วันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล

วันนี้ (22 มิ.ย.63) เวลา 09.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศอตช. ที่ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (เดิม) ชั้น 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อวางกลไกการตรวจสอบทุจริต จากพรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท 

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุมนัดนี้เป็นการเริ่มต้นรื้อฟื้นกลไกการตรวจสอบทุจริตของหน่วยงานราชการ ภายใต้ ศอตช. ที่สานต่อมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) อีกครั้ง โดยนัดนี้จะเป็นการเดินหน้าแผน-กลไกป้องการการทุจริตงบประมาณ จากพรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานป.ป.ท. สำนักงานป.ป.ช. กรมบัญชีกลาง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ฯ เข้าร่วมประชุม

ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 63 เห็นชอบ "กลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณ" ตาม พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท หรือ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) เสนอ  ประกอบไปด้วย 4 ด้าน ดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

1. การเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส กำหนดให้ - หน่วยงานที่รับผิดชอบแผนงาน/โครงการต้องเปิดเผยข้อมูลแผนการดำเนินงาน แผนการใช้จ่ายงบประมาณ ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและความคืบหน้าในการดำเนินงาน เพื่อให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน ร่วมเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตทางเว็บไซต์และจุดบริการข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานทางแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง และทางเว็บไซต์ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ (ภาษีไปไหน) ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)

ส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริต หรือปัญหาความเดือดร้อนในทุกพื้นที่ที่มีการใช้งบประมาณตามแผนงาน/โครงการ - เปิดช่องทางการรับแจ้งเบาะแสการทุจริตของประชาชนที่เกิดจากการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการ และเชื่อมโยงระบบรับเรื่องร้องเรียนของทุกหน่วยงานทางแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางหรือทางเว็บไซต์ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐของ สพร. โดยให้ ศอตช. เป็นศูนย์กลางประสานการดำเนินงาน        

2. การป้องกันและลดโอกาสการทุจริต- ก่อนการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบทำการประเมินและจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต เป็นกลไกกำกับและขับเคลื่อน- ให้ ศอตช. ทำการวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการที่มีความเสี่ยงการทุจริตสูง เพื่อแจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้มีการทุจริต- ให้ ศอตช. เผยแพร่ข้อมูลและสร้างการรับรู้ความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนเพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดความคุ้มค่าและโปร่งใส 

3. การตรวจสอบ- ให้  ศอตช. ทำการตรวจสอบการดำเนินโครงการเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยหรือมีเรื่องร้องเรียน เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานหรือข้อมูลว่ามีเหตุแห่งการทุจริตหรือไม่ ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการดำเนินโครงการ- เมื่อมีเรื่องร้องเรียนหรือมีเบาะแสการทุจริตให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริง พร้อมข้อมูลให้ ศอตช.

4. การดำเนินมาตรการทางปกครองวินัย และอาญา - เมื่อมีข้อร้องเรียนหรือการแจ้งเบาะแสการทุจริต ให้หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการทางปกครอง วินัย และอาญากับผู้ที่กระทำความผิดตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม - ให้สำนักงาน ป.ป.ท. ทำการติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรี (28 มกราคม 2563) การรับรายงานผลดำเนินการกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต และรายงานต่อ ศอตช. เพื่อดำเนินการต่อไป