ตลาดหุ้นโลกแนวโน้มผันผวน  จากความเสี่ยงโควิดรอบสอง

16 มิ.ย. 2563 | 06:50 น.

ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากความเสี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสอง

 

SCB Chief Investment Office (SCB CIO ) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า  มองแนวโน้มตลาดหุ้นโลกในสัปดาห์นี้  (15-19 มิ.ย. 2563 )เคลื่อนไหวผันผวน และได้รับแรงกดดันจากความเสี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสอง ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมทั้งการประท้วงและการก่อจลาจลในสหรัฐฯ ที่ยังคงมีอยู่ นอกจากนี้ คาดว่า ถ้อยแถลงของนายพาวเวล ประธาน Fed ต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้ จะส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงิน (Dovish) น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ หลังจากการประชุม Fed ครั้งล่าสุด ที่ประชุมฯ ได้ปรับแผนการเข้าซื้อสินทรัพย์ในมาตรการ QE จากการเข้าซื้อสินทรัพย์อย่างไม่จำกัด เป็นการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) วงเงิน 8 และ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ต่อเดือน ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ตลาดฯ อาจได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการที่ธนาคารกลาง และรัฐบาลต่าง ๆ ยังส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินการคลังเชิงผ่อนคลาย และพร้อมออกมาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติม หากจำเป็น ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI มีแนวโน้มปรับลดลง และเคลื่อนไหวผันผวน จากความเป็นไปได้ที่เชื้อไวรัสโควิด-19 จะแพร่ระบาดรอบสองในสหรัฐฯ และกดดันต่ออุปสงค์น้ำมันให้ปรับลดลงอีกครั้ง ประกอบกับนักลงทุนรอติดตามการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส ซึ่งจะมีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดน้ำมันโลก สำหรับตลาดหุ้นไทย มีแนวโน้มถูกกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง อย่างไรก็ดี ดัชนีฯอาจได้แรงหนุนระยะสั้นจาก ความคาดหวังกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัว หลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศผ่อนปรนมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระยะที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. นี้

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

ความคืบหน้าการผ่อนคลายมาตรการ lockdown ในประเทศต่าง ๆ ตลอดจนความเสี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสอง หลัง รัฐเท็กซัสรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ระดับสูงสุดใหม่ และมีจำนวนผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลทำลายสถิติสูงสุด

เหตุการณ์ประท้วงและการก่อจลาจลในสหรัฐฯ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้นายจอร์จ ฟลอยด์ ชาวผิวสี โดยล่าสุดผู้ประท้วงชาวสหรัฐฯได้ออกมาปิดทางหลวงในแอตแลนตา ขณะที่ ผู้บังคับการตำรวจเมืองแอตแลนตาได้ยื่นหนังสือลาออก เพื่อรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

การแถลงการณ์รอบครึ่งปีของนายพาวเวล ประธาน Fed ว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภา (16 มิ.ย.) และจะแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎร (17 มิ.ย.)

การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) (16 มิ.ย.) คาดว่า BoJ มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป้าหมายทั้งระยะสั้น และระยะยาวตามเดิม รวมทั้ง คงการเข้าซื้อสินทรัพย์ (JGB ETF และ J-Reit) ต่อปี ขณะที่ BoJ อาจขยายมาตรการจัดหาวงเงินกู้ให้กับ SMEs จากเดิมที่ 30 ล้านล้านเยน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการทางการคลัง ในช่วงที่ผ่านมา (มูลค่า 240.4 ล้านล้านเยน หรือ 43% ของ GDP)

ผู้นำยุโรป 27 ชาติจะประชุมทางไกล (19 มิ.ย.) เพื่อเจรจาต่อรองเกี่ยวกับแผนการกู้ยืมเงิน 7.50 แสนล้านยูโร จากตลาดการเงินต่าง ๆ ในช่วงเดือน มิ.ย.ถึงเดือน ก.ย. นี้

การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) (18 มิ.ย.) คาดว่า BoE มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.1% อย่างไรก็ดี BoE มีแนวโน้มขยายวงเงิน QE โดยตลาดคาดว่า BoE น่าจะเพิ่มวงเงิน QE อีกประมาณ 100 พันล้านปอนด์ อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของ BoE น่าจะเป็นไปในเชิงผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยอาจมีการส่งสัญญาณว่า พร้อมที่จะใช้ทุกเครื่องมือในการพิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงิน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 หากมีความจำเป็น

การประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส (18 มิ.ย.) เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดน้ำมันโลก

 

 

 

ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้

 

ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ยอดขออนุญาตก่อสร้างอาคาร และตัวเลขการขอรับสวัสดิการการว่างงานของสหรัฐฯ ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจโดย ZEW และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานและทั่วไปของยุโรป

เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ ความคืบหน้าในการผ่อนคลายมาตรการ lockdown, ความเสี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสอง, ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน, เหตุการณ์ประท้วงในสหรัฐฯ, ถ้อยแถลงของประธาน Fed ต่อสภาคองเกรส, การประชุม BoJ, การประชุม BoE และการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (8 – 12 มิ.ย.)

ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับลดลง โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้รับปัจจัยกดดันหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯจะหดตัวลง 6.5% ในปีนี้ พร้อมทั้ง ปรับแผนการเข้าซื้อสินทรัพย์ในมาตรการ QE นอกจากนี้ ดัชนีฯยังถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดรอบสองของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯ ด้านตลาดหุ้นยุโรปปรับลดลง จากแรงขายหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังคณะกรรมการกำกับดูแลความเสี่ยงระบบของยุโรป ระบุว่า ธนาคารต่างๆ ไม่ควรได้รับอนุญาตให้จ่ายเงินปันผลอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้ ประกอบกับนักลงทุนยังกังวลกับภาวะเศรษฐกิจโลก หลังองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดการณ์ว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในรอบ 100 ปี และเศรษฐกิจโลกอาจหดตัวถึง 7.6% ในปีนี้ หากมีการแพร่ระบาดระลอก 2 เกิดขึ้น

สำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับลดลง เนื่องจากหุ้นกลุ่มส่งออกได้รับผลกระทบจากเงินเยนที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สหรัฐฯ ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดรอบสองของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ด้านราคาน้ำมันปรับลดลง เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังที่กลุ่มโอเปกพลัสมีมติขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปเพียง 1 เดือน ขณะที่ สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) รายงาน สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 5.7 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 3.2 ล้านบาร์เรล