แบงก์เข้ม ปล่อยกู้รถ ยอดปฏิเสธพุ่ง50%

16 พ.ค. 2563 | 02:00 น.

แบงก์เข้มปล่อยกู้รถ ต้องวางเงินดาวน์ 25% แถมดูลึกถึงความมั่นคงองค์กรและอาชีพด้วย หลังมาตรการล็อกดาวน์คุมโควิด กระทบรายได้ผู้กู้  ดันยอดปฏิเสธพุ่ง 50% สมาคมผู้ประกอบการรถใช้แล้ว มองทั้งปีสินเชื่อทรงตัว ป้ายแดงอาจติดลบ

นายภิญโญ ธนวัชรภรณ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว (UsedCar) เปิดเผยฐานเศรษฐกิจว่า แนวโน้มการเติบโตของตลาดรถยนต์ใช้แล้วและรถมือ ขึ้นกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และสถานการณ์เชื้อโควิดไม่กลับมาแพร่ระบาดรอบ 2 สถาบันการเงินผ่อนปรนเกณฑ์พิจารณา สินเชื่อ ทำให้ทั้งรถยนต์มือ 1 และรถยนต์ใช้แล้วมีโอกาสกลับมาขยายตัวในไตรมาส 3 และ หลังจากไตรมาสแรก ยังเห็นการขยายตัวในตลาดรถยนต์ใช้แล้วราว 5-10% แต่ไตรมาส 2 น่าจะปรับลดลง 30% ทำให้ภาพรวมรถยนต์ใช้แล้วทั้งปี มีโอกาสทรงตัวได้กรณีที่มองโลกสวย แต่หากเลวร้ายที่สุดอาจติดลบถึง 20%

“ความต้องการกู้ของคนยังไม่ลดลง แต่สถาบันการเงินตั้งการ์ดสูง ต้องวางเงินดาวน์ 25% ถ้าดูรายได้ผู้กู้ไม่เข้าเกณฑ์จะดูความมั่นคงองค์กรและอาชีพด้วย ทำให้ตัวเลขรถยนต์ใช้แล้วไม่โต และไม่ใช่เฉพาะรถยนต์ใช้แล้ว แต่เข้าใจว่าป้ายแดงก็ปล่อยยาก โดยเฉพาะไตรมาส 2 ปีนี้จะเห็นภาพชัดขึ้น เฉพาะเดือนพฤษภาคม ตัวเลขจองรถใช้แล้วสูง แต่ถูกปฏิเสธครึ่งต่อครึ่งหรือมากกว่านั้น อย่างในภูเก็ตอาจจะผ่านแค่ 20% เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่หายไป

 

อย่างไรก็ตาม ในแง่สถาบันการเงิน เห็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการอนุมัติสินเชื่อ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวช่วงนี้กู้ยากมาก เพราะอาชีพเหล่านี้ไม่สามารถสร้างรายได้ในขณะนี้ ซึ่งสถาบันการเงินจะตั้งกำแพงเร็ว แต่ก็สามารถจะลดกำแพงลงได้เร็วเช่นกัน หากธุรกิจสายการบินหรือธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาได้ ส่วนตัวยังเข้าใจว่า สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เพราะต้องการนํ้าดีรองรับลูกหนี้ส่วนหนึ่งที่เข้าโครงการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจะครบกำหนดในอีก 5 เดือนข้างหน้า ซึ่งภาคสถาบันการเงินกำลังกลัวและกังวล หลังจากผ่านพ้นมาตร การหรือภายหลังสถาน การณ์โควิดลูกหนี้เหล่านี้ยังคงผ่อนชำระหนี้อยู่หรือไม่เพราะสิ่งที่น่ากลัวคือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)

แบงก์เข้ม ปล่อยกู้รถ ยอดปฏิเสธพุ่ง50%

สอดคล้องกับนายป้อมเพชร รสานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารธนชาต กล่าวว่า การพิจารณาสินเชื่อใหม่จะเข้มงวดตามสถานการณ์ โดยดูละเอียดขึ้น เช่น ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและอ้อมจากเศรษฐกิจ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม โดยนอกจากดูภาระหนี้ต่อรายได้ 50% แล้วจะดูความมั่นคงของธุรกิจ/องค์กรผู้กู้ทำงานอยู่ด้วย โดยยอดสินเชื่อคงค้างยังคงที่ไม่เป็นไปตามแผน แม้สินเชื่อไตรมาส 1 ขยายตัว แต่สินเชื่อใหม่ลดลงตามตลาดรถยนต์ และผู้บริโภคไม่เร่งตัดสินใจซื้อเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งช่วงที่เหลือต้องรอดูสถานการณ์ 2-3 เดือนหลังจากนี้ด้วย

 

ทั้งนี้ตั้งแต่สัปดาห์สุดท้ายเดือนพฤษภาคม และต้นมิถุนายน  ธนาคารจะแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงแพ็กเกจการผ่อนชำระ หลังจากสิ้นสุดโครงการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งมีลูกค้าเข้าร่วมแล้ว 5 แสนราย คิดเป็น 40% ของฐานลูกค้ารวม โดยเลือกพักเงินต้นและดอกเบี้ยตั้งแต่ 4-6 เดือน ที่เหลืออีก 60% ยังผ่อนชำระค่างวดเป็นปกติ

 

ไตรมาส 2 จะเริ่มออก โปรแกรม เพื่อเตรียมการไม่ให้ลูกค้าสะดุดและใช้รถยนต์ต่อไป โดยภายหลังมาตรการพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยแล้วเราจัดแพ็กเกจให้ลูกค้าเลือกผ่อนชำระตามความสมัครใจเพื่อลดภาระการผ่อนทำให้มีสภาพคล่องขึ้น

 

ด้านนายรุ่งโรจน์ จรัสวิจิตรกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารการขายและการตลาดสินเชื่อรายย่อย 1 ธนาคาร ทิสโก้กล่าวว่า ทิสโก้ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับเกณฑ์รายได้ของผู้กู้ต้องมากกว่าค่างวด 2 เท่า ซึ่งถือปฏิบัติมาร่วม 20 ปีแล้ว และปีนี้ยังเน้นให้มีรายได้เพียงพอและต่อเนื่องเพราะคุณภาพเป็นเรื่องหลัก ส่วนปริมาณสินเชื่อเป็นรอง

 

สำหรับตลาดครึ่งปีหลังประเมินว่า แย่กว่าครึ่งปีแรก เพราะไตรมาสแรกอาจจะได้รับผลกระทบจากโควิดไม่มาก แต่จะเห็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงมากขึ้นช่วงไตรมาส 2, 3 และ 4 แม้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดจะลดลง ซึ่งหากครึ่งแรกยอดขายรถปิดที่ 2 แสนคัน มีโอกาสที่จะเห็นครึ่งปีหลังปิดที่ 3.1 แสนคัน โดยทั้งปียอดขายรถยนต์ใหม่เหลือ 6 แสนคัน ลดลง 40% จาก 1 ล้านคันในปีก่อน

 

ปัจจุบันทิสโก้เร่งบรรเทาลูกหนี้รายย่อย โดยเข้าโครงการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแล้ว 1.5 แสนราย ซึ่งธนาคารเลือกพักหนี้เงินต้นเป็นเวลา 6 เดือน โดยลูกค้ายังผ่อนชำระดอกเบี้ย เพราะไม่คิดว่า โควิดจะจบภายใน 3 เดือนและรายได้ของลูกค้าจะไม่กลับมาเหมือนเดิมในเดือนที่ 4 ซึ่งหากไม่สามารถจ่ายค่างวดได้ก็จะกลายเป็นเอ็นพีแอล

 

การพักชำระหนี้เงินต้น 6 เดือนอย่างน้อยธนาคารยังมีกระแสเงินสดเข้ามาและอาจจะขยายต่อให้ลูกค้าอีกในอนาคตอาจจะ 6 เดือน เพื่อ ไม่เร่งอาการป่วยของธนาคาร ซึ่งจะทำให้ทั้งลูกค้าและสถาบันอยู่รอดได้

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,574 วันที่ 14 - 16 พฤษภาคม .. 2563