ฟื้นการบินไทย บนกระบวนการศาลล้มละลาย?

13 พ.ค. 2563 | 00:31 น.

 วิกฤตการบินไทย ที่กลายเป็นวิวาทะระหว่างแรงต้านและแรงเชียร์ทั้งบนโซเชียลมีเดียและสื่อทุกประเภท  บ้างเสนอให้รัฐค้ำประกันเงินกู้ บ้างเสนอให้ยุบทิ้ง และอีกส่วนหนึ่งเสนอให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลายกลาง

โดยระหว่างนี้ทุกฝ่ายจับตาท่าทีของรัฐบาล! ภายหลังจากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การฟื้นฟูการบินไทยนั้นเป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) ที่จะเสนอ เพราะอยู่ในเรื่องของรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลต้องฟื้นฟูอยู่แล้ว

 

ต่อประเด็นการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้กระบวนการของศาลล้มละลายกลางนั้น แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการฟื้นฟูกิจการเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  ถ้าบมจ.การบินไทยจะเลือกแนวทางฟื้นฟูกิจการนั้น  ในหลักการของศาลล้มละลายกลาง เบื้องต้นแนวทางการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะต้องอยู่บน 2เงื่อนไข คือ

 

หนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน(หนี้สินล้นพ้นตัว)  หรือ กรณีไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนด(ขาดสภาพคล่อง)  ซึ่งสามารถจะร้องขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้  ซึ่งสามารถจะยื่นคำร้องขอโดยการบินไทยเอง  หรือบรรดาเจ้าหนี้ของการบินไทย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างการบินไทยกับเจ้าหนี้ เพื่อให้ศาลพิจารณาถึงเหตุผลความจำเป็น หรือมีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการเพียงไร

 

“คำร้องขอฟื้นฟูกิจการจะต้องพิสูจน์ได้ว่า  การบินไทยมีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือชำระหนี้ไม่ได้  หรือมี ความจำเป็น  และเป็นปัญหาจากสภาพเศรษฐกิจ หรือบริหารขาดทุน แต่ไม่ได้เกิดจากการทุจริต  โดยต้องแสดงให้เห็นถึงโอกาสของการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ นอกจากนี้ในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต้องเสนอด้วยว่าจะให้ใครจะเป็นผู้ทำแผน”

อย่างไรก็ตาม  หากคำร้องขอเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการสามารถแสดงความจำเป็นและเห็นโอกาสของการฟื้นฟูกิจการได้อย่างครบถ้วน  บริษัทการบินไทยในฐานะลูกหนี้ก็จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอัตโนมัติ ( Automatic stay )จากบรรดาเจ้าหนี้ทุกประเภท โดยไม่สามารถฟ้องร้องหรือดำเนินคดีในระหว่างบริษัทลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู  ซึ่งถือเป็นสิทธิประโยชน์เบื้องต้น  แต่ประเด็นคณะผู้บริหาร(บอร์ด)และเจ้าหนี้การบินไทยต้องหารือกันเพื่อหาทางออก  เพราะเท่าที่ติดตามจากสื่อ ยังปรากฎทั้งแรงต้าน และแรงหนุน 

 

ที่สำคัญ หากมีการยื่นคำร้องขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลายกลาง ในทางปฎิบัติศาลต้องดูในรายละเอียดหรือไส้ในของการบินไทย  ซึ่งปัจจุบันศาลล้มละลายกลางจะมองหลักการฟื้นฟูกิจการค่อนข้างจริงจัง  ไม่ใช่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการได้เรื่อยๆ  

 

โดยศาลจะพิจารณาถึงเหตุผลของการฟื้นฟูกิจการ  เพราะต้องพิจารณาตั้งแต่การเข้ามาฟื้นฟูกิจการ รวมถึงพฤติกรรมทุจริต    หรือบริหารงานผิดพลาด  โกงกันเอง และสร้างหนี้เทียม  เหล่านี้เป็นประเด็นศาลล้มละลายกลางจะดูรายละเอียดเพื่อประกอบการพิจารณาคำร้องว่าจะรับหรือไม่รับเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ อย่างไร

อนึ่ง ที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุ (เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563) ว่า กระทรวงฯได้สั่งการให้ฝ่ายบริหารการบินไทย ทำงานร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำรายละเอียดของแผนฟื้นฟูให้สมบูรณ์ เพราะแผนฟื้นฟูควรจะมีแผนบริหารหนี้  แผนหารายได้ แผนรายจ่ายระบุให้ชัดว่าใครทำอะไร ทำอย่างไรและที่สำคัญต้องนำเงื่อนไขโควิด-19เข้าไปพิจารณาด้วย

 

ทั้งนี้ เนื่องจากแผนฟื้นฟูที่การบินไทยเสนอเมื่อวันที่ 7พฤษภาคมที่ผ่านมาระบุถึงความเสี่ยง 23ด้านซึ่งยังไม่สมบูรณ์ควรจะต้องมีรายละเอียดทุกด้าน โดยกระทรวงฯต้องการพิจารณารายละเอียดของแผนฯอย่างรอบคอบก่อนจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา

 
“กรณีของการยื่นเป็นบริษัทล้มละลายเพื่อมีผลต่อการชำระหนี้สินนั้น ส่วนตัวมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นกรณีที่จะต้องดู หากว่าการบินไทยทำแผนต่อไม่ได้ ซึ่งขณะนี้ตนไม่อยากให้เรื่องไปถึงขั้นตอนศาล เพราะหากเป็นเช่นนั้น ศาลจะต้องลงมากำกับดูแล อีกทั้งปัจจุบันการบินไทยก็ยังยืนยันเดินหน้าแผนฟื้นฟูได้ ดังนั้นต้องรอให้เกิดกรณีที่การบินไทยทำแผนฟื้นฟูไม่ได้ก่อน”