สินทรัพย์ดิจิทัล จะมาเร็วกว่าที่คิดเพราะ COVID-19

30 เม.ย. 2563 | 23:45 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เราพูดกันถึงDigital Disruption” ที่จะเป็นตัวเร่งให้คนทำธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีดิจิทัล มาถึงตอนนี้นักวิเคราะห์ทั้งหลายกำลังมองไปถึง New Normal หรือมาตรฐานใหม่ที่เกิดจากการ Disrupt ระดับโลกของวิกฤติ COVID-19 ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดมากเสียยิ่งกว่า Digital Disruption เราได้เห็นแนวโน้มการ Work from home ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือ ธุรกิจส่งอาหารที่เฟื่องฟู เรียกได้ว่าเพราะ COVID-19 คนทั่วโลกถูกบีบบังคับให้ปรับตัวตามเทคโนโลยีอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

สินทรัพย์ดิจิทัล จะมาเร็วกว่าที่คิดเพราะ COVID-19

 

หนึ่งในแนวโน้มที่น่าจะมาเร็วขึ้นคือ แนวคิดของสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ผ่านมา เราอาจคุ้นชินกับการใช้เงินสด การทำเอกสารหรือการดำเนินเรื่องใดๆ ก็ตาม ที่ต้องพบเจอกัน แต่เมื่อ COVID-19 เกิดขึ้น การใช้เงินสดก็ดูเหมือนว่าจะไม่ปลอดภัย การพบเจอกันก็กลายเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง ผลที่ตามมาก็คือ ผู้คนจะหันมาใช้จ่ายโดยไม่ใช้เงินสด และทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ทั้งการทำธุรกรรมกับเอกชนและภาครัฐ เช่น การขอรับเงินช่วยเหลือฉุกเฉินต่างๆ การยื่นขอรับเงินประกันไฟฟ้า ไปจนถึงการขออนุมัติสินเชื่อเพื่อธุรกิจผ่านออนไลน์ เช่นที่ประเทศจีนได้เปิดตัวบริการกู้ยืมเงินContactless Loans” เพื่อช่วยเหลือ SMEs โดยทุกขั้นตอนจะดำเนินการผ่านระบบอัตโนมัติ ใช้เวลาเพียง 3 นาที ในการยื่นเรื่องขอกู้ยืมเงินผ่านโทรศัพท์มือถือและแจ้งผลได้ทันทีในเวลาไม่ถึงนาที

การเกิดขึ้นของสังคมไร้เงินสดนี้จะส่งผลดีต่อการใช้สกุลเงินดิจิทัลต่างๆ เป็นสื่อกลาง ทั้งในรูปของเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี  Stablecoin และเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งสกุลเงินดิจิทัลนี้เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของสินทรัพย์ดิจิทัลชำระ

 

สินทรัพย์ดิจิทัลนั้นไม่ต่างอะไรกับสินทรัพย์ที่มีในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทอง นํ้ามัน หุ้น ที่ดินหรือตราสาร เพียงแต่มันอยู่ในรูปของหน่วยดิจิทัลที่มีคุณสมบัติในการแลกเปลี่ยนกันอย่างรวดเร็วและอิสระ ในปีที่ผ่านมา เราเห็นความพยายามของหลายชาติในการสร้างระบบเงินดิจิทัล ไม่ว่าจะ Libra ของ Facebook หยวนดิจิทัลของจีน หรือแม้แต่โครงการอินทนนท์ของไทย และนั่นอาจจะเป็นภาพที่คนทั่วไปเห็นเท่านั้นในการพยายามทำให้เงินตราเป็นรูปแบบเหรียญดิจิทัล ในความเป็นจริงสินทรัพย์ดิจิทัล มีแนวคิดที่เปิดกว้างมากมายกว่านี้เช่น

 

 การทำให้หุ้นหรือที่ดินหรือหลักทรัพย์กลายเป็นหน่วยดิจิทัลที่แลกเปลี่ยนได้ อย่าง Security Token

 

การสร้างธนาคารกลางที่ไม่ขึ้นกับอำนาจของประเทศใดอย่าง MakerDao ที่มีเหรียญ Stablecoin ชื่อ Dai เป็นตัวชูโรง

 

การกำหนดสิทธิในการร่วมลงทุนในโปรเจ็กต์ และเมื่อโปรเจ็กต์นั้นมีกำไร เราก็จะได้ผลตอบแทนกลับมาตามจำนวน Token ที่ถือครอง ที่เรียกว่า Investment Token

 

สำหรับกฎหมายไทยได้ให้นิยามว่า สินทรัพย์ดิจิทัล ประกอบด้วย สกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency และ Digital Token เป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือ Token ที่ถูกสร้างขึ้นโดยมีสินทรัพย์ดิจิทัลมาอ้างอิง เพื่อใช้กำหนดสิทธิของบุคคลที่มีต่อสินทรัพย์นั้น ซึ่งกระบวนการที่นำเอาสินทรัพย์ในโลกของความเป็นจริงทั้งจับต้องได้ เช่น บ้าน ที่ดิน และห้องชุดคอนโดฯ หรือสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น หุ้น สิทธิบัตร หรือแบรนด์ มาทำเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลเรียกว่า Tokenization แล้วจะได้ออกมาเป็น Digital Token

แนวคิดเหล่านี้นั้น ส่วนใหญ่เป็นแนวคิดตั้งต้นที่เกิดขึ้นหลังจากเทคโนโลยี Blockchain ถูกพูดถึงมากขึ้นหลังปี 2015 จนกลายเป็นกระแส แม้จะผ่านมา 5 ปีแล้วก็ตาม เราอาจพูดได้ว่า มันยังไม่ได้เข้าสู่ Mass Adoption มูลค่าทางการตลาดยังน้อยมากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจในยุค COVID-19 เราอาจจะได้เห็นการเกิดขึ้นของสินทรัพย์ดิจิทัลเร็วกว่าที่คิดหลายๆ ประเทศกำลังตื่นตัวในเรื่อง Digital Token เพราะการนำสินทรัพย์มาทำ Tokenization จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ เกิด Capital Inflow จากนักลงทุนทั่วโลก เรียกได้ว่า สินทรัพย์ ดิจิทัลจะเป็น New Normal ของการระดมทุนในระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ นั่นเอง

คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์

ปรมินทร์ อินโสม

ประธานกรรมการบริหาร

บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,570 วันที่ 30 เมษายน-2 พฤษภาคม 2563