หลังโควิดเศรษฐกิจไทย จะไม่เหมือนเดิม

27 เม.ย. 2563 | 06:40 น.

หลายสำนักวิจัย ทยอยปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 2563 จากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ซึ่งลามไปทั่วโลก ซํ้าเติมการค้าระหว่างประเทศ ทำให้หลายประเทศต้องจัดสรรงบประมาณในการเยียวยา ทั้งจากนโยบายทางการคลังและนโยบายทางการเงิน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจและประชาชน

นายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สะท้อนมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจและการเงินของประเทศผ่านฐานเศรษฐกิจว่า แม้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจะหายไป ส่วนตัวประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มถดถอยและจะลากยาวจากปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปี 2564 ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ให้รัฐบาลต้องหาทางเยียวยาประเทศ โดยเฉพาะงบประมาณปี 2564 ต้องจัดสรรวงเงินงบประมาณให้ได้อย่างน้อย 3.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกรอบงบประมาณ 2563 ที่กำหนดไว้ 3.2 ล้านล้านบาท เพราะมีความจำเป็นต้องใช้เงินในการดูแลประเทศอย่างมาก ขณะที่แนวโน้มการจัดเก็บรายได้จะลดลงอย่างมากในปีนี้และต่อเนื่องปี 2564 จากผลพวงของมาตรการยกเว้นภาษีและมาตรการต่างๆ หรือแม้ไม่มีมาตรการยกเว้นภาษี แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ย่อมทำให้การจัดเก็บภาษีเงินได้หายไปเกือบหมด

 

หากมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะถดถอยหรือหดตัวอย่างต่อเนื่องไปอีก 3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะปี 2563 ถ้าจีดีพีหดตัว 10% อาจทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจากปลายปีก่อน 80% ของจีดีพี กระโดดขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 90% ได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น คนจนของประเทศจะโงหัวได้อย่างไร อันนี้ เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องคิดและแก้ไข

ทั้งนี้ในทางปฏิบัติ เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบพระราชกำหนด(...) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลสามารถดำเนินการกู้เฉพาะในส่วน 6 แสนล้านบาทก่อน โดยสามารถยกเลิกวงเงินกู้อีก 4 แสนล้านบาท เพื่อนำวงเงินดังกล่าวไปบรรจุไว้ในงบประมาณประจำปี 2564 ซึ่งจะมีการควบคุมการเบิกจ่ายและใช้วงเงินอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างงบประมาณของปี 2564 อยู่แล้ว เพราะภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 ร่างดังกล่าวจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้งบประมาณประจำปี 2564 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563

เท่าที่ติดตามการออกพ...กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลเองมีความประสงค์จะใช้วงเงินกู้ 6 แสนล้านบาทก่อน ส่วน 4 แสนล้านบาทนั้น มีเจตนารมณ์ที่จะทำโครงการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในชนบท รวมถึงการจ้างงานในพื้นที่ชนบท ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของงบประมาณปี 2564 ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพูดถึงโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง นํ้าท่วม และอีกหลายๆ โครงการ จึงถึงเวลาต้องเคี่ยวเข็ญให้คนทำงาน หรือหากใครไม่พร้อม ก็ควรจะเปลี่ยนเอาคนที่สามารถทำงานได้เข้ามาทำให้เกิดเป็นรูปธรรม

 

สมหมาย ภาษี

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงแนวโน้มภายหลังโควิดแล้ว เศรษฐกิจใหม่ของไทยจะไม่เหมือนเดิม เพราะมีคนจนตกค้าง คนจะว่างงาน และธุรกิจมีโอกาสฟื้นได้แค่ 65% เพราะเจ๊งไปเยอะ หรือมาตรการโควิดยังดูแลไม่หมด ทำให้จีดีพีไทยยังปรับลดหรือจะถดถอยอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งปีนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เองได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีของไทยจะติดลบถึง 6.7% ซึ่งอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและในอาเซียน แต่ส่วนตัวยังมองว่า ปีนี้จีดีพีอาจติดลบได้ถึง 18% โดยคำนวณจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับลดเหลือ 50% แม้เดือนตุลาคมข้างหน้า ที่จะเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว แต่เชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเข้ามาน้อย เพราะทุกคนบอบชํ้ากันทั้งนั้น ขณะที่การส่งออกปีนี้อาจติดลบ 20%

 

เฉพาะภาคส่งออกและการท่องเที่ยว 2 เครื่องยนต์นี้คิดเป็น 65% ของจีดีพี จึงจำเป็นต้องถือโอกาสปรับโครง สร้างทางเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพาภาคการส่งออกเหมือนที่ผ่านมา หรือจะเพิ่มในส่วนไหนก็ต้องไปพิจารณากันในแง่ผลได้และผลเสียต่อเศรษฐกิจ  ที่สำคัญ ผมยังมองว่า โครงสร้างงบประมาณของไทย ยังสามารถทำงบขาดดุลได้อีกมากและควรจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่อง 3 ปี (ปี 2564-66) เศรษฐกิจของประเทศจึงจะฟื้น แม้จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่ม แต่ระยะยาวจะไม่เกิน 50% ซึ่งรัฐบาลต้องควบคุมการใช้งบให้เกิดประโยชน์กับบ้านเมืองมากที่สุด

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,569 วันที่ 26-29 เมษายน 2563