รับมือโควิด รัฐต้องแก้ให้ตรงจุด

26 มี.ค. 2563 | 02:36 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

 

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธ์ุใหม่ (โควิด-19) ทั่วโลกที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนต่างเทขายสินทรัพย์ ทั้งในตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มราคาสินทรัพย์ทางการเงินที่ปรับลดลงสวนทางกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ ยีลด์) ที่ปรับเพิ่ม ขณะที่เงินบาทของไทยอ่อนค่าไปแล้ว 8.4% สอดคล้องกับสกุลเงินของแต่ละประเทศในตลาดเกิดใหม่ (EM) ที่อ่อนค่าราว 12-25% เหตุเพราะพึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกในสัดส่วนที่สูง ทำให้อำนาจซื้อลดลง 1 ใน 4 ซึ่งมุมมองของตลาดเงินประเมินว่า โอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นกลับมาได้ภายในปีนี้ดูยากมากทีเดียว เพราะยิ่งสกุลเงินประเทศไหนอ่อนค่าลง จะเห็นปรากฏการณ์นักลงทุนขายทิ้งหุ้นและพันธบัตร ทำให้รัฐบาลหรือธนาคารกลางของแต่ละประเทศ ต้องหามาตรการออกมาช่วงพยุงไว้ ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ย หรือ อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดการเงินและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ฯ เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในเมืองไทยต้องยอมรับว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจทำให้คนไทยว่างงานชั่วคราวมากขึ้น จากฐานข้อมูลแรงงานไทยที่จะขาดรายได้จริงๆ ในปัจจุบันราว 7-8%   ดังนั้น มาตรการที่รัฐบาลจะออกมารอบนี้ ต้องเป็นมาตรการที่มุ่งช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ คือกลุ่มคนที่จะตกงานช่วยให้เขามีงานทำ มีรายได้ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจและใช้ชีวิตได้ ส่วนการแจกเงินทั่วๆ ไป ไม่น่าจะช่วยได้ตรงจุดนัก

ดังนั้น รัฐบาลควรทำนโยบายหรือ โครงการผู้ขอรับสวัสดิการใหม่ให้คนตกงานเข้ามาอยู่ในโครงการ เพื่อให้เงินคนได้ใช้ชีวิตประจำวันเหมือนที่สหรัฐอเมริกา ที่ประชาชนอเมริกันสามารถเดินไปแจ้งสำนักงานเขตว่าตกงาน เพื่อขอรับเงิน เดือนละประมาณ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อครัวเรือนโดยมีเงื่อนไขที่รัฐจะให้งานมาทำด้วย หากไม่ตรงกับงานนั้น แรงงานสามารถลาออกจากงานแล้วกลับมาขอรับสวัสดิการใหม่ รัฐจะเปลี่ยนงานให้ แต่เต็มที่ไม่เกิน 3 เดือน หรือถ้าไม่ยอมทำงานรัฐจะไม่ต้องจ่ายเงิน

 

 

รับมือโควิด รัฐต้องแก้ให้ตรงจุด

จิติพล พฤกษาเมธานันท์

นอกจากนั้น อาจใช้นโยบาย การเงินแบบอังกฤษ เช่น ให้พักชำระหนี้เป็นเวลา 3 เดือน ไม่ต้องผ่อน ไม่ต้องจ่าย ซึ่งเป็นมาตรการทางการคลังผสมมาตรการทางการเงิน โดยธนาคารกลาง ธนาคารพาณิชย์ เพราะปัญหาอยู่ที่ประชาชนทั่วไปไม่มีรายได้ แต่หากทางการต้องการช่วยเหลือภาคธุรกิจ หรือผู้ประกอบการ ควรมีการกำหนดเงื่อนไข หรือทำสัญญา เช่น บริษัทจะไม่ปลดคนเป็นเวลา 12 เดือน หรือถ้าบริษัทหรือผู้ประกอบการที่สามารถจ้างงานได้มาก หรือสามารถจ้างคนกลับมาทำงาน 1,000 คน ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล

 "ตอนนี้มาตรการเงินทั่วโลกเป็นเหมือนกันคือไม่ได้ผลแล้ว เพราะจุดที่ต้องแก้ไม่ใช่สภาพคล่องคือ คนไม่ได้กลัวดอกเบี้ยสูง แต่คนกลัวตกงาน ทางแก้จึงต้องการมาตรการทางการคลังเท่านั้นที่จะต้องทำให้คนหายกลัวคือ กลัวตายจากไรรัสและกลัวตกงาน"

สำหรับแนวโน้มเงินบาทนั้น การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามดูแลค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าไปมากถือว่าถูกต้องคาดว่าจะใช้เงินไม่ถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะมีหน้าตักกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหากมองในเชิงบวก ครึ่งปีหลังถ้าธุรกิจเริ่มกลับมาทำธุรกิจได้ ไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 คาดว่าจะเห็นค่าเงินบาทกลับมาที่ระดับ 31.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯได้

 "หากไม่สามารถดูแลค่าเงิน จะยิ่งทำให้คนขาดความเชื่อมั่นในตลาดเงิน และอาจเจอนักลงทุนเทขายหุ้นและพันธบัตร ซึ่งถ้ามองภาพรวมเศรษฐกิจแล้ว ไม่น่าจะกลับมาได้ภายในสิ้นปีนี้ นอกจากแต่ละประเทศจะมีมาตรการของตัวเองแล้ว อาจจะถึงจังหวะที่ธนาคารกลางทั่วโลกอาจจะต้องมาหารือกัน เพื่อกำหนดแนวทางดูแลเศรษฐกิจ เช่น ใช้สกุลเงินดอลลาร์เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่"

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3560 วันที่ 26-28 มีนาคม 2563