รู้ใจ วางตำแหน่ง Top10ในปี68

17 มี.ค. 2563 | 23:00 น.

การประกันภัยรถยนต์ มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัยของไทย จากมูลค่าเบี้ยประกันภัยรับตรงต่อปีที่สูงมากกว่าแสนล้านบาท คิดเป็นกว่า 60% หรือ 3 ใน 5 ของเบี้ยประกันภัยรับของธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งระบบ แต่การแข่งขันในธุรกิจประกันภัยรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นและสถิติสินไหมทดแทนหรืออัตราเคลมที่ค่อนข้างสูง นอกจากส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรแล้ว ยังกดดันต่อความเสียหาย (Lost Ratio) ทำให้แนวโน้มผู้ประกอบการหลายรายยกเลิกรับประกันภัยรถยนต์มากขึ้น

นายนิโคลัส ฟาเกต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท รู้ใจ จำกัดหรือ Roojai.com ผู้นำประกันรถออนไลน์เปิดเผยว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ภาพรวมตลาดประกันภัยรถยนต์จะเปลี่ยนโฉมไปอย่างสิ้นเชิง ผู้ที่เหลืออยู่ในตลาดจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งรู้ใจเองก็มุ่งที่จะเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญในตลาดเช่นกัน ขณะที่ช่วง 3-5 ปีข้างหน้า จะเห็นจำนวนบริษัทประกันรถยนต์ทยอยลดลง ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นบางบริษัทรายกลางถอนตัวออกจากตลาด และมีแนวโน้มการควบรวมกิจการกันด้วย เพราะนอกจากขนาดที่ใหญ่ขึ้นแล้วบริษัทที่เหลือในตลาดจะเป็นบริษัทที่มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น

ส่วนแนวโน้มราคา จะเห็นว่าปีที่ผ่านมาและปีนี้ ตลาดมีการปรับเบี้ยขึ้นบ้างแล้ว เฉพาะบริษัทเองปรับราคาขึ้น 10-12% ซึ่งมาจากค่าซ่อมหรือต้นทุนค่ารักษาพยาบาลกรณีคนบาดเจ็บ โดยแนวโน้มค่าพรีเมียมเบี้ยประกันจะเพิ่มขึ้น ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)เอง พยายามผลักดันเพดานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับผู้บริโภค เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะต้องคำนึงถึงการซ่อมตัวบุคคลควบคู่ไปกลับการซ่อมรถยนต์ด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ค่าเบี้ยประกันลดลงคือ เชิญชวนลูกค้าให้ใช้ค่าเสียหายส่วนแรก ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการไปแล้ว

รู้ใจ วางตำแหน่ง Top10ในปี68

นิโคลัส ฟาเกต์

การปรับขึ้นค่าเบี้ยประกันขึ้นกับลูกค้าและตลาด ซึ่งเรามี 16 ตัวแปรแบ่งเป็น 10 ประเภทสามารถคูณมาเป็นราคา 5 ล้านราคา โดยดูจาก เซ็กเมนต์ที่ไม่สามารถทำกำไรได้ หรือมีอัตราการเคลมสูง ซึ่งสรุปใน 6 เดือนที่ผ่านมา ค่าเบี้ยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5% แต่ 5% ที่เพิ่มขึ้นนั้นประมาณ 50% ของฐานลูกค้าไม่ได้ถูกกระทบ เพราะมีพฤติกรรมขับรถดี แต่อีก 50% ที่มีพฤติกรรมขับรถทำให้เราปวดหัว ก็จะถูกขึ้นค่าเบี้ย 10% แต่เซ็กเมนต์ที่ซื้อค่าเสียหายส่วนแรกหรือ ขับรถน้อยกว่าอัตราเฉลี่ย ซึ่งมีประมาณ 50% เป็นลูกค้าที่ไม่มีปัญหา ซึ่งแน่นอนว่า อีก 12 เดือนข้างหน้า เซ็กเมนต์นี้จะไม่ถูกกระทบจากราคาที่ปรับขึ้น

 

ส่วนผลการดำเนินงานปี 2562 ยังมีผลขาดทุนจากต้นทุนค่าคอมมิสชัน แต่เริ่มทำให้ค่าสินไหมทดแทนต่อเบี้ยประกันที่เป็นรายได้ (Lost Ratio) คงที่เป็นครั้งแรก โดยอยู่ในช่วง 70-75% ซึ่งแนวโน้มอนาคตบริษัทพยายามจะกำหนดเคพีไอจาก Lost Ratio ให้อยู่ในระดับคงที่และนำเทคโนโลยีมาให้บริการ เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไร เพราะแนวทางการเติบโตทางธุรกิจ บริษัทจะเน้นพัฒนาระบบไอที เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการในราคาที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและมุ่งหวังที่จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน10 ภายในปี 2568 ภายใต้ฐานลูกค้า 3.5 แสนราย จากปัจจุบันที่อยู่ในอันดับ 29 ของบริษัทนายหน้ารับประกันภัยรถยนต์ ดูแลฐานลูกค้า 55,000 รายจาก 55 บริษัท

เป้าหมายติด 1 ใน 10 อันดับเป็นแผนระยะยาว โดยเริ่มจากปีหน้าจะเริ่มเห็นการขยายตัว 75% จากนั้นจะขยายตัว 65% ปีถัดไป 60% และ 50% ซึ่งจะเห็นการเติบโตลดลงเรื่อยๆ จากฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น แต่ทั้งหมดก็ขึ้นกับปัจจัยแวดล้อมระหว่างทางแต่ละปีด้วย

สำหรับแผนธุรกิจปี 2563 บริษัทคาดหวัง ฐานลูกค้า 9 หมื่นรายเพิ่มขึ้น 64% จากปีก่อน ส่วนเบี้ยประกันภัยรับรวม 910 ล้านบาทเพิ่ม 72% จากปีก่อน โดยปีนี้จะใช้งบลงทุน 36 ล้านบาทไม่รวมด้านพนักงาน เพื่อพัฒนาบริการตอบโจทย์ลูกค้าให้ตรงใจมากขึ้น ทั้งเพิ่มการซื้อประกันภัยชั้น 2 บวกพร้อมเลือกรับค่าเสียส่วนแรกที่สูงขึ้น, ประกันภัยสำหรับรถยนต์หรูและเตรียมขยายธุรกิจแนวตั้งที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,557 วันที่ 15-18 มีนาคม 2563