หุ้นแบงก์ ลดกระหนํ่า เทรดตํ่ากว่าบุ๊ก

05 ธ.ค. 2562 | 09:53 น.

ช็อป 7 หุ้นแบงก์ ราคาตํ่ากว่ามูลค่าบัญชี (BV) โบรกฯเชียร์หุ้นแบงก์ใหญ่ เหตุหนี้เสียนิ่ง เศรษฐกิจเติบโตมาตรการลงทุนรัฐหนุนสินเชื่อปี 63 แนะ BBL ซื้อขายที่ P/BV 0.8 เท่า ใกล้เคียงกับวิกฤติต้มยำกุ้ง

หุ้นกลุ่มแบงก์ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาปรับตัวลงกว่า 13% ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ของหุ้นกลุ่มนี้ลดลงกว่า 36% เหลือ 1.38 ล้านล้านบาททำให้ valuation หุ้นกลุ่มนี้ค่อนข้างถูก

จากการสำรวจของฐานเศรษฐกิจพบว่ามี 7 หุ้นแบงก์ ราคาตํ่ากว่ามูลค่าตามบัญชี (Book Value : BV) ได้แก่ หุ้นธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) โดยราคาปิด วันที่ 2 ธันวาคม 2562 ตํ่ากว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชี P/BV ถึง 0.51 เท่า, หุ้นธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LHFG) P/ BV ที่ 0.65 เท่า , หุ้นธนาคารกรุงไทย (KTB) P/BV ที่ 0.68 เท่า, หุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) P/BV ที่ 0.77 เท่า ส่วนหุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารธนชาต (TCAP) ซื้อขายตํ่ากว่ามูลค่าบัญชี P/BV อยู่ที่ระดับ 0.88 เท่า, 0.90 เท่า และ 0.92 เท่าตามลำดับ

หุ้นแบงก์ ลดกระหนํ่า เทรดตํ่ากว่าบุ๊ก

โดยเฉพาะ 4 หุ้นแบงก์ใหญ่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) ราคาได้ปรับลงเฉลี่ยถึง 15% KBANK ปรับลง 18.1% , BAY ปรับลง 17.7 %, KTB ปรับลง 14.6% และ BBL ปรับลง 14.3% ในขณะที่ P/E เฉลี่ยอยู่ระดับ 9 เท่า

นายภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นกลุ่มธนาคารปีหน้าจะกลับมาดีกว่าตลาด โอกาสที่ดอกเบี้ยจะลดลงอีกเป็นไปได้น้อย กลยุทธ์แนะนำให้ขายหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ที่เทกกำไรในปีนี้ เช่น หุ้นบมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD), บมจ. เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) มาซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารใหญ่แทน

ปีนี้ถ้าเทียบดูหุ้นกลุ่มแบงก์ กับผลตอบแทนพันธบัตรไทย (Bond Yield) ลงมาทิศทางเดียวกัน ฉะนั้นถ้าบอนด์ยีลด์เริ่มนิ่ง หุ้นกลุ่มแบงก์จะน่าสนใจ และด้วย Valuation ที่ถูก แนะนำเลือก KBANK ราคาเป้าหมาย 198 บาท

บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรีฯ แนะเลือก BBL เป็นTop pick ในกลุ่มธนาคาร ให้ราคาเป้าหมาย 210.00 บาท จาก Valuation เริ่มน่าสนใจเนื่องจากปัจจุบัน BBL ซื้อขายที่ P/BV ตํ่าเพียง 0.8 เท่า ใกล้เคียงกับระดับที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งและวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่ระดับ 0.7 เท่า (แต่ปีนี้ไม่ได้เกิดวิกฤติ)จึงเลือก BBL เพราะพอร์ตสินเชื่อเน้นกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ (Corporate) จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหา NPLน้อยกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่เน้น SMEs หรือเน้นกลุ่มรายย่อย (หนี้บ้านBBLมี Coverage ratio สูงสุดของกลุ่มสะท้อนถึงการบริหารที่ระมัดระวัง (Conservative) ถือเป็นกลยุทธ์ในภาวะที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน

ความเห็นของนักวิเคราะห์(IAA Consensus) 17 บล.ให้ราคาเป้าหมายเฉลี่ยหุ้น BBL ที่ 207 บาท สูงสุด (บล.ฟิลลิปฯ) ที่ 235 บาท, ตํ่าสุด (บล. เคทีบีฯ) ที่ 185 บาท , KBANK บล. 18 แห่งให้ราคาเป้าหมายเฉลี่ย 162.5 บาท สูงสุด (บล.หยวนต้าฯ) 198 บาท ตํ่าสุด (บล.เคทีบีฯ) 144 บาท หุ้น BAY บล. 10 แห่ง ให้ราคาเป้าหมายเฉลี่ย 40.50 บาท สูงสุด (บล.หยวนต้าฯ) 47 บาท ตํ่าสุด (บล.ทิสโก้ฯ) 33.75 บาท และหุ้น KTB บล. 18 แห่ง ให้ราคาเป้าหมายเฉลี่ย 19.20 บาท สูงสุด (บล.หยวนต้าฯ) 22.50 บาท และตํ่าสุด (บล.ยูโอบี เคย์เฮียนฯ) 17.30 บาท

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ฯ กล่าวว่า ปีหน้ากลุ่มแบงก์จะดีขึ้นจากปีนี้ จากปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ยไทยที่ลงมาตํ่าสุดแล้วคือ 1.25% โอกาสที่จะลดลงกว่านี้มีน้อยมาก ขณะที่ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ก็จะลดลงตามดอกเบี้ยที่ตํ่าโดยปริยาย นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นคาดจะเติบโต 3% การเจรจาการค้าสหรัฐฯ - จีนมีทางออก เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยที่จะดีขึ้น จากการส่งออกที่ไม่ติดลบ บริโภคเพิ่มขึ้นจากความมั่นใจ และการลงทุนในเขตเศรษฐกิจอีอีซี

นายมนชัย มกรานุรักษ์ หัวหน้าสำนักวิจัย บล.ทิสโก้ฯ กล่าวว่าจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% มาอยู่ระดับ 1.25% เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ได้ช่วยลดแรงกดดันเรื่องดอกเบี้ยหมดไป และช่วยลดความกังวลเรื่องหนี้เสียธนาคาร อย่างไรก็ดี การลงทุนหุ้นช่วงนี้อาจต้องดูจังหวะ เลือกหุ้นเด่น BBL จากราคาเทรดที่ตํ่ากว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชี 0.78 เท่า และลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคอร์ปอเรต (ธุรกิจ) จึงไม่มีปัญหาในเรื่องสายป่านในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอ

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,528 วันที่ 5-7 ธันวาคม 2562

                    หุ้นแบงก์ ลดกระหนํ่า เทรดตํ่ากว่าบุ๊ก