ZEN ลุยต่อยอดธุรกิจอาหาร

14 ก.พ. 2562 | 01:06 น.
 

สัมภาษณ์พิเศษ
ธุรกิจอาหารในปัจจุบัน เรียกได้ว่ากำลังเติบโตไปได้ด้วยดี ด้วยกลยุทธ์ต่างๆ ที่ทำมาเพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สำหรับบมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN หลังเสนอขายหุ้น IPO 75 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 13 บาท ทำให้มีเงินตุนในมือแล้ว 975 ล้านบาท เพื่อนำไปขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัทส่วนหนึ่ง ซึ่งจะมีทั้งขยายสาขาและปรับปรุงสาขาร้านอาหาร บางส่วนนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์และที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส

ภายใต้แผนปี 2562 ที่จะขยายร้านอาหารรวม 123 สาขา โดยเป็นการขยายสาขารูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ที่มีขนาดเล็กลง คือมีพื้นที่ประมาณ 100 ตร.ม. โดยเป็นของกลุ่มบริษัท 36 สาขา และให้สิทธิแฟรนไชส์อีก 87 สาขา และจะขยายร้านอาหารรวม225 สาขาในปี 2563 แบ่งเป็นการขยายสาขารูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ โดยกลุ่มบริษัท 50 สาขา และให้สิทธิแฟรนไชส์ 175 สาขา

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ZEN เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทได้ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ในปี 2562 โดยแบ่งเป็น 3 ธุรกิจ คือ ร้านอาหาร สัดส่วน 90% ส่วนอีก 10% คือกลุ่มแฟรนไชส์ และ Food Services โดย Food Services จะประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจค้าปลีก เช่น ขายเครื่องปรุงรสผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต โดยที่ผ่านมาได้มีการขายผ่านหน้าร้าน จากนั้นได้รับผลตอบรับดี จึงได้ขยายช่องทางขายเพิ่มขึ้น เริ่มจากปลายปีที่ห้างแม็คโคร และคาดว่าในเดือนพฤษภาคมนี้ จะเริ่มวางขายที่ห้างโลตัส

[caption id="attachment_388358" align="aligncenter" width="393"] บุญยง ตันสกุล บุญยง ตันสกุล[/caption]

ขณะเดียวกัน กลุ่มธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร (Delivery) และกลุ่มธุรกิจบริการการจัดเลี้ยง (Catering) มีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในเดือนมีนาคมนี้ บริษัท จะลงทุนในด้านการบริการข้อมูล (Call Center) ของตนเอง เพื่อผลักดันยอดขาย Delivery และ Catering ให้มีสัดส่วนประมาณ 10% ทั้งนี้ จะมีทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าไปปรับระบบต่างๆ เพื่อให้ง่ายขึ้น รวมถึงยังมีแผนเปิดร้านทำ Delivery โดยเฉพาะ หลังจากปัจจุบันบริษัท ยังใช้หน้าร้านอยู่ ซึ่งจะทำให้การบริการเกิดการล่าช้า นอกจากนี้ ยังรับเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับร้านอาหาร สำหรับผู้ประกอบการ หรือเจ้าของแฟรนไชส์ด้วย

“มั่นใจว่า ปีนี้บริษัทจะทำยอดขายแตะระดับ 3,600 ล้านบาท หรือเติบโตจากปีก่อน 20% หลัง 9 เดือนแรกของปี 2561 มีรายได้จากยอดขาย 2,200 ล้านบาท หรือเติบโต 21% จากปี 2560 ซึ่งหากสามารถรักษาอัตราเติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่าปีละ 20% จะทำให้ยอดขายแตะระดับหมื่น
ล้านบาทได้ในอีก 5 ปี”

ทั้งนี้บริษัทเริ่มต้นกิจการเมื่อปี 2534 จากธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น ก่อนพัฒนาสู่การเป็นผู้ให้บริการร้านอาหาร (Food Services) อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีบริการที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ บริการจัดส่งอาหาร รับจัดเลี้ยง ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุงและอาหารพร้อมทานที่จำหน่ายผ่านช่องทางจำหน่ายต่างๆ เพื่อตอบสนองการเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคในทุกระดับ ทั้งกลุ่มที่มีพฤติกรรมชื่นชอบการทานอาหารนอกบ้านและกลุ่มที่มีไลฟ์สไตล์นิยมทำรับประทานเองภายในบ้าน จึงสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมในทุกเซ็กเมนต์

ในส่วนของแบรนด์ใหม่ “เขียง” ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงและเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นโดยเป็นร้านอาหารตามสั่งที่ราคาไม่สูง ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ สะอาด มีมาตรฐาน และใช้เวลาในการปรุงไม่นาน ซึ่งสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั่วไปได้ง่ายขึ้น เพราะปัจจุบันลูกค้านิยมรับประทานอาหารแบบสะดวกและรวดเร็ว โดยตั้งเป้าขยายสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากนั้นจะขยายไปยังจังหวัดขนาดใหญ่ต่อไป

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,444 วันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว