กรมบังคับคดีขายทรัพย์ 6.2 หมื่นล้าน

17 เม.ย. 2560 | 02:00 น.
กรมบังคับคดีเผยต้นปีงบฯขายทรัพย์แล้วกว่า 6.2 หมื่นล้านบาท จากเป้าทั้งปี 1 แสนล้านบาท แจงมาตรา 44 แก้ไขกฎหมายล้มละลายเอื้อพระราชบัญญัติหลักประกันและปลดล็อคเจ้าหนี้ขายหลักประกันสกัดค่าเสื่อม

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า 2-3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 กรมบังคับคดีสามารถดันทรัพย์สินออกประมูลขายทอดตลาดได้แล้วจำนวน 6.2 หมื่นล้านบาท จากเป้าทั้งปีกำหนดไว้ที่ 1 แสนล้านบาท

ขณะนี้กรมบังคับคดีอยู่ระหว่างนำสต็อคทรัพย์สินออกประมูลขายทอดตลาดมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท โดยนอกจากจะกระตุ้นตลาดด้วยการดึงทรัพย์สินที่มีราคาสูงในทำเลโดดเด่น เช่น ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) แนวรถไฟฟ้า หรือทำเลเศรษฐกิจซึ่งจะเป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าหรือผู้ที่จะเข้าประมูลซื้อทรัพย์

สำหรับแผนกระตุ้นตลาด กรมฯกำหนดให้สำนักงานทั่วประเทศเปิดดำเนินการในวันเสาร์ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 แต่อาจจะมีบางสาขาจะให้สำนักงานเสนอรูปแบบการให้บริการประชาชนเข้ามาเพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะอีกครั้ง
ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างคัดทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประมูลสามารถคัดเลือกทรัพย์ได้หลากหลายและสะดวกขึ้น ซึ่งจากแผนกระตุ้นดังกล่าวคาดว่าทั้งปีกรมบังคับคดีจะสามารถระบบทรัพย์ได้กว่า 1 แสนล้านบาท

สำหรับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติมาตรา44ในส่วนของกรมบังคับคดี ได้แก้ไข พ.ร.บ. ล้มละลายในส่วนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการพิจารณาแล้ว ประกอบด้วย แก้ไขมาตรา 90/12 (6) ห้ามไม่ให้เจ้าหนี้มีประกันบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ หรือเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอ โดยระยะเวลาดังกล่าวสามารถขยายได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 6 เดือน

ทั้งนี้หลังจากปรับปรุงกฎหมายแล้วเมื่อศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ภายใน 1 ปี หรือขอขยายได้ แต่รวมแล้วไม่เกิน 2 ปีจากเดิมเจ้าหนี้และลูกหนี้จะติดข้อกฎหมาย(Auto Metric Stay)

“ มาตรานี้เป็นการแก้ไขเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ของกรมพัฒนาการค้าที่ออกไปก่อนหน้านี้ และเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดตามกรอบความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ เนื่องจากก่อนหน้าจะมีการแก้ไขกฎหมาย เจ้าหนี้ที่มีหลักประกันตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจไม่มีความชัดเจนว่าจะถูกพักชำระหนี้ระหว่างที่ลูกหนี้อยู่ในแผนฟื้นฟูฯ ระยะเวลายาวนานมากน้อยเพียงไร”

ขณะเดียวกัน การแก้ไขมาตรา 90/12ทวิซึ่งกับ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจของกระทรวงพาณิชย์ คือ กรณีทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน มีสภาพเป็นของสดเสียได้หรือหากหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงต่อความเสื่อมค่า ความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาจะเกินส่วนกับค่าของทรัพย์สิน

โดยหลักของร่างแก้ไขดังกล่าวเพื่อให้เจ้าหนี้มีประกันอาจนำทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อเก็บเป็นเงินสด ซึ่งเดิมการตัดขายทรัพย์จะติดข้อกฎหมายระยะยาวจนกว่ายุติการฟื้นฟูกิจการ

นอกจากนี้การแก้ไขมาตรา 90/46 เกี่ยวกับมติในการยอมรับแผนฟื้นฟูโดยใช้เสียงในการลงมติของเจ้าหนี้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนหนี้ทั้งหมด และเมื่อนับรวมกับจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ที่ยอมรับแผนในที่ประชุมเจ้าหนี้ทุกกลุ่มแล้ว มีจำนวนไม่น้อยกว่า 50% ของจำนวนหนี้ ซึ่งเป็นการปรับลดจากเดิมที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าหนี้ใช้เสียง 3 ใน 4 หรือ 75% ของจำนวนหนี้ทั้งหมด โดยแนวทางที่ปรับลดนั้นจะช่วยให้การลงคะแนนง่ายขึ้น และสามารถผ่านแผนฟื้นฟูได้รวดเร็วขึ้น