แนะ "ล็อกดาวน์" เข้มงวดสูงสุดทันที หมอเฉลิมชัยชี้ไม่ต้องรอครบ 14 วัน

23 ก.ค. 2564 | 02:49 น.
อัพเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2564 | 11:02 น.

หมอเฉลิมชัยแนะล็อกดาวน์เข้มงวดสูงสุดทันทีไม่ต้องรอครบ 14 วัน เผยหากใช้เร็วเกินไปก็จะมีผลเสียเพิ่มไม่มากนัก เพราะได้ใช้มาตรการเข้มงวดอยู่แล้วในขณะนี้ ซึ่งกระทบกับเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่มากพอสมควร

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า 
23 กรกฎาคม 2564 ติดเชื้อสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทยมากถึง 14,575 ราย เสียชีวิต 114 ราย
ควรเร่งใช้มาตรการเข้มข้นสูงสุดคือ ล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ (Fully or Totally Lockdown) ในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม ( 13 จังหวัด )
สถานการณ์โควิดของประเทศไทยกำลังอยู่ในลักษณะเดียวกันกับอีกหลายประเทศทั่วโลกคือ เกิดการเพิ่มขึ้นที่สูงกว่าระลอกเดิมเป็นอย่างมาก ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต ทั้งที่ได้มีการใช้มาตรการควบคุมโรคในลักษณะต่างๆ ไม่ได้น้อยกว่า หรืออาจจะกล่าวได้ว่ามากกว่าในระลอกเดิมด้วยซ้ำ
ทั้งนี้เหตุเกิดจาก การระบาดระลอกนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมากโดยไวรัสต้นเหตุ เป็นไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่คือ สายพันธุ์เดลต้า (Delta) หรืออินเดีย ซึ่งมีความสามารถในการแพร่ระบาดมากกว่าเดิม เกินกว่าหนึ่งเท่าตัว จึงทำให้มาตรการต่างๆที่จะใช้รับมือกับสถานการณ์การระบาดในปัจจุบันนั้น  จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไป
ความเชื่อ วิธีคิดในประสบการณ์เดิมที่เคยประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดในระลอกที่สอง จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ มาตรการจะต้องมีความเข้มข้นเข้มงวดขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก เพื่อทำให้ประชาชนที่ไม่มีวินัย ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนอาจมีความจำเป็นในชีวิตที่จะปฏิบัติตัวตามมาตรการขอความร่วมมือจะได้ปฎิบัติตนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ คือไม่แพร่เชื้อ ได้ใกล้เคียงกับกลุ่มประชาชนที่มีวินัยและมีความรู้ความเข้าใจอยู่แล้ว จึงจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดไว้ได้
การตั้งความหวังว่า จะใช้มาตรการเข้มงวด (Strict Lockdown) เพื่อรองรับกับไวรัสที่ดุร้าย เป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะเป็นไปได้แล้วในขณะนี้
การตัดสินใจออกประกาศล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ ( Fully or Totally Lockdown) หรือมาตรการเข้มข้นสูงสุดจึงเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ แม้จะยังไม่ครบ 7-14 วัน หลังจากที่มีการประกาศใช้มาตรการเข้มงวด (Strict Lockdown) ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ก็ตาม

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ
คิดว่าเราควรประกาศใช้ได้เลย เพราะถ้าเราพลาด ประกาศใช้มาตรการเข้มงวดสูงสุดเร็วเกินไป ก็จะมีผลเสียเพิ่มไม่มากนัก เพราะเราได้ใช้มาตรการเข้มงวดอยู่แล้วในขณะนี้ ซึ่งก็กระทบกับเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่มากพอสมควร แต่จะส่งผลดีอย่างมาก ต่อการป้องกันระบบสาธารณสุขที่กำลังจะล่มสลายหรือรับมือไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพื่อเป็นการให้ความสำคัญ เป็นการรักษาชีวิตของผู้คนจำนวนมากเอาไว้ให้ได้ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงเรื่องการให้ความสำคัญกับระบบสาธารณสุขที่กำลังจะล่มสลายแต่เพียงลำพัง ตามที่หลายฝ่ายเข้าใจเท่านั้น หากเป็นการให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวอีกด้วย เพราะถ้าระบบสาธารณสุขล่มสลายแล้ว จะเกิดการระบาดของโรคอย่างรุนแรง โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตก้าวกระโดดขึ้นอย่างมาก

สถานการณ์การดำเนินชีวิตของผู้คนจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีคนกล้าออกจากบ้านมาทำมาหากิน เพราะกลัวการติดเชื้อ กลัวการหาโรงพยาบาลรักษาตัวไม่ได้ และกลัวการเสียชีวิตที่จะมีจำนวนมาก เศรษฐกิจก็จะล่มสลายในที่สุดด้วยเช่นกัน
การประกาศมาตรการเข้มข้นสูงสุด หรือการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ จะทำให้ตัวเลขการติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะยังไม่สามารถทำให้การระบาดของโรคยุติลงได้อย่างสมบูรณ์ก็ตาม เพื่อจะได้มีเวลา ให้เกิดการเร่งระดมฉีดวัคซีน จนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ขึ้น เราก็จะมีโอกาสมาประกาศผ่อนคลายมาตรการต่างๆได้ในภายหลัง
แต่ถ้าประกาศมาตรการเข้มข้นสูงสุดช้าไป อาจจะมีสถานการณ์ที่บานปลายไป จนแม้จะมาประกาศมาตรการเข้มข้นสูงสุดในภายหลัง ก็จะเห็นผลน้อย เกิดผลเสียหายต่อระบบสาธารณสุข การเจ็บป่วย การป่วยหนัก และชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมาก
ส่วนผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ น่าเชื่อได้ว่า รัฐได้เตรียมการวางแผน เตรียมคน และเงินงบประมาณไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงสมควรที่จะประกาศมาตรการเข้มข้นสูงสุดหรือล็อกดาวน์โดยเร็วต่อไป
หมอเฉลิมชัยระบุอีกว่า วันนี้ 23 กรกฎาคม 2564
ติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ใหม่ 14,575 ราย
ติดเชื้อในระบบ 9889 ราย
ติดเชื้อจากตรวจเชิงรุก 3601 ราย
ติดเชื้อในเรือนจำ 1072 ราย 
ติดเชื้อในสถานกักตัว 13 ราย
สะสมระลอกที่สาม 438,844 ราย
สะสมทั้งหมด 467,707 ราย
รักษาตัวอยู่ 143,744 ราย
โรงพยาบาลหลัก 81,808 ราย
โรงพยาบาลสนาม 61,936 ราย
อาการหนัก 3984 ราย
ใช้เครื่องช่วยหายใจ 900 ราย

กลับบ้านได้ 7715 ราย
สะสม 320,371 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 114 ราย
สะสมระลอกที่สาม 3717 ราย
สะสมทั้งหมด 3811 ราย

สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย
สำหรับแนวคิดการยกระดับมาตรการให้เข้มงวดมากขึ้นนั้น สอดคล้องกับความคิดเห็นของ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" ซึ่ง "ฐานเศรษฐกิจ" ได้นำเสนอไปแล้ว โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า 
สิ่งที่ ศบค. ควรพิจารณาทำ ยังยืนยันเช่นเดิมคือ
1. ชะลอนโยบายเปิดเกาะ เปิดประเทศ
2. ปรับเปลี่ยนกลไกนโยบายและวิชาการ

3.Full national lockdown 4 สัปดาห์ โดยต้องเตรียมระบบสนับสนุนช่วยเหลือเยียวยาประชาชนอย่างรอบคอบ
4. ปูพรมตรวจ โดยจัดทั้งบริการตรวจที่รพ.อย่างเต็มศักยภาพ บริการจุดตรวจนอกสถานที่ บริการตรวจโดยรถเคลื่อนที่ บริการตรวจแบบ knock the door and do the test และการตรวจด้วย Rapid antigen test ด้วยตนเองโดยมีจุดแจกจ่ายชุดตรวจโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พร้อมระบบรายงานผลหรือรวบรวมผลการตรวจไม่ให้ตกหล่น