จดหมายเปิดผนึกถึง "นายกตู่" ขอถาม ปิดร้านอาหารในห้างทำไม?

21 ก.ค. 2564 | 04:23 น.

ผู้ประกอบการร้านอาหาร ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังศบค. มีคำสั่งปิดร้านอาหารในห้าง ถามหาเหตุผล ทำไมต้องปิด? พร้อมชง 7 ข้อเรียกร้องขอเปิดครัวขายต่อ  

จากคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2564

 

เรื่อง ขยายพื้นที่สถานการณ์   ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือสีแดงเข้ม เป็น 13 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี สงขลา นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

 

โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป โดยการเปิดให้บริการในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า กำหนดให้เปิดบริการได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านยา พื้นที่ฉีดวัคซีน หรือบริการทางการแพทย์ของรัฐเท่านั้น ทำให้ร้านอาหารที่ตั้งอยู่ภายในห้างหรือศูนย์การค้าไม่สามารถเปิดให้บริการได้ทุกรูปแบบ

 

ล่าสุด เฟซบุ๊ค “เพื่อนแท้ร้านอาหาร” หรือ Restaurant Buddy ได้โพสต์ข้อความ เป็นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า

 

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ และศบค.เสนอมาตรการเปิดร้านอาหารในห้างฯ

 

กราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha

 

ด้วยเชื่อว่าท่านและคณะทำงานศบค.มีหลายเรื่อง หลายปัญหาใหญ่ ๆ ให้ต้องพิจารณาแก้ไข จนอาจทำให้การตัดสินใจออกมาตรการบางอย่างถูกข้ามในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่เป็นรายละเอียดที่ส่งผลลัพธ์สร้างความเสียหายต่อประชาชน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมตามมาอย่างมาก

 

ดังกรณีคำสั่งในประกาศฉบับที่28 ปิดร้านอาหารในห้างฯ ซึ่งสร้างความงงงวยให้กับผู้ประกอบการและสาธารณชนอย่างมาก ว่าปิดเพื่อ! ปิดแล้วมันช่วยให้การระบาดดีขึ้นจริงเหรอ ในเมื่อคนยังแออัดในซุปเปอร์ฯ มากกว่าการรอสั่งอาหารกลับบ้าน

 

แต่ก็เชื่อว่าท่านคงได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือ จากคณะแพทย์ในศบค. จนนำมาสู่คำสั่งดังกล่าว (หากไม่ใช่การพิมพ์ตกหล่นไป)

 

แต่คำสั่งดังกล่าวมีผลให้เกิดการตกงานทันทีของพนักงานหลายพันชีวิต ลำพังเงินเยียวยา เงินทดแทนที่ได้จากประกันสังคม ไม่เพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายของพวกเขา ซึ่งจะยื่นเรื่องขอก็ลำบาก ระบบล่มซ้ำซาก จะสอบถามข้อมูลจากข้าราชการก็ยากเย็น แถมบางเขตข้าราชการดุด่าใส่ประชาชนไม่พยายามจะช่วยเหลือ

 

ยังรวมถึงผลประกอบการของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งนี้ โดยไม่คาดคิดมาก่อนซึ่งล้วนแต่เป็นแบรนด์ใหญ่ที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงย่อมส่งผลตรงต่อGDPประเทศตามมาสต็อกวัตถุดิบที่ระบายออกไม่ทันสร้างความสูญเสียต่อเงินทุนยอดขายที่หายไปทันที

 

โดยไร้มาตรการเยียวยารองรับซึ่งผู้ประกอบเหล่านี้ต่างบอบช้ำสะสมมาจากมาตรการควบคุมของรัฐอย่างต่อเนื่อง

 

ที่หนักกว่านั้น บรรดาผู้ประกอบการแต่ละแบรนด์เขาห่วงใยพนักงาน เขาต้องหาวิถีทางดิ้นสู้เพื่อรอดต่างก็ต้องพากันหาสถานที่นอกห้างเพื่อให้สามารถทำอาหารขายได้ต่อซึ่งล้วนแต่เป็นต้นทุนผลิตที่เพิ่มขึ้นหากผู้ประกอบการเหล่านี้โดยเฉพาะแบรนด์ระดับSME ต้องเจ๊งไป

จดหมายเปิดผนึกถึง "นายกตู่" ขอถาม ปิดร้านอาหารในห้างทำไม?

การชดเชยเยียวยาใด ๆ ก็ไม่อาจเพียงพอยังไม่นับถึงซัพพลายเชนต่าง ๆที่เชื่อมโยงกับธุรกิจร้านอาหารซึ่งเชื่อมไปสู่เกษตรกรโดยตรง ต้องได้รับผลกระทบไปด้วยแรงงานตกงานกระทบต่อปัญหาครัวเรือนเกิดหนี้NPL และหนี้สูญการหมุนเวียนเศรษฐกิจหยุดชะงักดูแล้วผลกระทบที่ตามมามันหนักมาก

 

จึงขอเสนอมายังท่านนายกฯ และคณะทำงานศบค. ดังนี้

 

ข้อ 1 ในประกาศฉบับที่28ไม่ได้ห้ามการขนส่งอาหารดังนั้น ขอให้ท่านพิจารณาอนุญาตร้านอาหารในห้างสามารถเปิดครัวทำอาหารส่งได้โดยให้เป็นการรับออเดอร์ผ่านแพลทฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่เท่านั้น

 

ข้อ 2 ให้ห้างฯ กำหนดจุดรับ-ส่งอาหารนอกพื้นที่ห้างฯ

 

ข้อ 3 ให้ร้านจำกัดจำนวนพนักงานเฉพาะพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฝ่ายผลิต ฝ่ายจัดเตรียมเท่านั้นให้ปฏิบัติงานได้

 

ข้อ 4 จะไม่มีการรับออเดอร์หน้าร้านเด็ดขาด

 

ข้อ 5 มีการตรวจเช็คไทม์ไลน์พนักงานทุกคน ที่ต้องมาปฏิบัติหน้าที่มีกฎระเบียบภายในร้านตามมาตรการสาธารณสุขที่ศบค.กำหนด

 

ข้อ 6 หรือจะกำหนดให้ร้านต้องตรวจRapid testพนักงานก่อนเข้าร้านก็เชื่อว่าทางร้านยินดีปฏิบัติ

 

ข้อ 7 อนุญาตให้ร้านอาหารนิติบุคคลเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งได้และให้โครงการคนละครึ่งชำระค่าบริการผ่านแพลทฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ได้

 

หากท่านอนุญาตตามที่เสนอมานี้โดยเร็วที่สุด ไม่ต้องรอถึง 7 วันท่านจะช่วยอีกหลายชีวิต อีกหลายธุรกิจให้รอดไม่ต้องเสียงเจ๊ง เสี่ยงตกงานเพราะมาตรการเยียวยาต่างๆไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึงแต่หากท่านปล่อยให้คำสั่งมีผลต่อไปด้วยความห่วงใยอย่างยิ่งว่า

 

เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง จุดที่ประชาชนต้องเลือกระหว่างโรคระบาดกับการอดยากถึงจุดนั้นมาตรการ หรือคำสั่งใดๆอาจไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนอีกต่อไปซึ่งหากถึงจุดนั้น สถานการณ์ต่าง ๆ จะมีแต่แย่ลงกิจการร้านอาหารต่างก็เป็นเด็กดีให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำสังศบค.มาโดยตลอด

 

แม้ทุกมาตรการจะสร้างความบอบช้ำอย่างมากต่อกิจการก็ตามแต่สำหรับครั้งนี้ ดูจะหนักหนาและไม่สมเหตุผลในการสั่งปิดร้านอาหารในห้างว่าจะช่วยควบคุมการระบาดได้อย่างไรหรือหากท่านยืนยันว่าสมเหตุผลกรุณาแจ้งบอกเหตุผลนั้นให้ประชาชนได้ทราบด้วย

 

หรือหากใครจะคิดว่าขออะไรไม่ดูสถานการณ์ระบาดเลยทำไมไม่อดทนให้ความร่วมมือขอโปรดช่วยบอกทีว่าร้านอาหารในห้างปลอดภัยน้อยกว่าสถานที่อื่นๆ ที่ยังเปิดได้อย่างไร