"หมอนิธิพัฒน์"จี้เปลี่ยนฝ่ายนโยบาย-บริหารสถานการณ์โควิดที่ไม่จำเป็น

19 ก.ค. 2564 | 01:07 น.

"หมอนิธิพัฒน์"ถามหรือประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนฝ่ายนโยบายและบริหารสถานการณ์โควิดที่ไม่จำเป็น ระบุถึงเวลาจำเป็นที่จะต้องจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของประชาชนใน 13 จังหวัดซึ่งยังควบคุมการระบาดของโรคไม่ได้

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความว่า  
มาช่วยกันจับตากันดูซิว่า มาตรการออกใหม่วันพรุ่งนี้ ในส่วนที่ว่า “จำเป็น” นั้นมันจำเป็นขนาดไหน
การลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง...ที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถาน หรือที่พำนักโดยไม่จำเป็น  ในเมื่อคนอื่นยังจำเป็นฉันก็ต้องจำเป็น
สำหรับการดำเนินการของ... ยังคงเปิดดำเนินการได้ตามความจำเป็น โดยให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด...ในเมื่อกิจการเจ้าอื่นยังจำเป็นกิจการของฉันหรือของเราก็จำเป็น ส่วนการเคร่งครัดตามที่ราชการกำหนด เคยเห็นหน่วยราชการไทยที่ไหนทำได้ผลเต็มที่ตามความจำเป็นบ้าง
ในการรักษาผู้ป่วยโรคหืดตามความรุนแรง ผมในฐานะแพทย์ที่เก๋าหน่อยจะสอนแพทย์มือใหม่ว่า ถ้าเราเป็นผู้พบผู้ป่วยครั้งแรกขณะมีโรคกำเริบรุนแรง ผมจะประมวลข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยรายนั้นโดยรอบด้าน และจะเริ่มใช้มาตรการของการดูแลรักษาที่ดักหน้าข้ามขั้นโรคไว้ก่อนไม่ให้มีโอกาสเกิดการกำเริบซ้ำ (get high then gradually go low) และเมื่อเอาอยู่ระยะหนึ่งแล้ว ผมจะค่อยๆ ลดการรักษาให้ผ่อนคลายลงตามลำดับความรุนแรงของโรคที่ควบคุมได้ แต่ถ้าเรายังไม่มั่นใจพอ ให้เริ่มต้นการรักษาไปทีละขั้นความรุนแรง  (gradually go from low until get high) เมื่อได้ผลดีแล้ววงรอบต่อไปจึงให้พัฒนามาตรการเข้มข้นขึ้นเป็นขั้นต่อไป

ทำไมเรายังไม่รู้จักสรุปบทเรียน ยังไม่พูดตรงๆ กันเสียทีว่า ถึงเวลาจำเป็นแล้ว ที่จะต้องจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของประชาชนใน 13 จังหวัดซึ่งยังควบคุมการระบาดของโรคไม่ได้ อย่างจริงจังและจริงใจ แล้วค่อยไปหาทางเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบตามความจำเป็น โดยจำเป็นต้องไม่เบียดบังการชดเชยเข้าตัวเองหรือพรรคพวกตัวเอง และโดยไม่จำเป็นต้องชดเชยบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีฐานะเพียงพอ
หรือเราจำเป็นต้องออกนโยบายที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่จำเป็น
หรือเราจำเป็นต้องเปลี่ยนฝ่ายนโยบายและฝ่ายบริหารสถานการณ์โควิดที่ไม่จำเป็น

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล
สำหรับมาตรการ "ล็อกดาวน์"ล่าสุดนั้น จากการตามติดของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า วันที่ 18 ก.ค.64 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อ ข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ลงนามโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อยกระดับล็อกดาวน์ เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 (Covid-19)และการบังคับใช้อย่างจริงจังเพิ่มเติม โดยสรุปประเด็นสำคัญของมาตรการยกระดับล็อกดาวน์ 

ยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เป็น 13 จังหวัด ( เพิ่มจังหวัด ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา) ได้แก่
1. กรุงเทพมหานคร 
2. จังหวัดฉะเชิงเทรา 
3. จังหวัดชลบุรี 
4. จังหวัดนครปฐม 
5. จังหวัดนนทบุรี 
6. จังหวัดนราธิวาส
7. จังหวัดปทุมธานี 
8. จังหวัดปัตตานี 
9. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
10. จังหวัดยะลา 
11. จังหวัดสงขลา 
12. จังหวัดสมุทรปราการ 
13. จังหวัดสมุทรสาคร
จํากัดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง ในเขตพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุด และเข้มงวด เลี่ยง จํากัด หรืองดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถานหรือที่พํานัก โดยไม่จําเป็น ยกเว้นกรณีที่จำเป็น เช่น การเดินทางเพื่อจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จําเป็น ต่อการดํารงชีวิต อาหาร ยาหรือเวชภัณฑ์ การเดินทางเพื่อพบแพทย์ 
ขยายเวลาเคอร์ฟิวต่ออีก 14 วัน จนถึง 2 สิงหาคม 2564 ( นับจาก 20 ก.ค. 64) 
-ห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม ออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วันนับแต่วันที่ข้อกําหนดฉบับนี้ ใช้บังคับ
สกัดการใช้เส้นทางคมนาคมและการตรวจคัดกรองการเดินทาง ชะลอหรือสกัดกั้นการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ในการเดินทางไปยังพื้นที่อื่น โดยให้เป็นไปตามแนวทางที่ ศปก.ศบค. กําหนดเป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 14 วัน 
ขนส่งสาธารณะ จํากัดจํานวนผู้โดยสารที่ใช้บริการ ไม่เกิน 50% ของความจุผู้โดยสาร เว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด 
ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อ ออกคำสั่งปิดสถานที่หรือกิจการที่มีความเสี่ยง ให้ดําเนินการต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 14วัน 
ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกันมากกว่า 5 คน ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนจัดการอบรม สัมมนา หรือการประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก งดจัดกิจกรรม
ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป เว้นเฉพาะมาตรการขนส่งสาธารณะ ตามข้อ 5 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป