"ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย" หนุนใช้วัคซีนโควิด-19 booster

18 ก.ค. 2564 | 03:03 น.

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยออกหนังสือสนับสนุนการใช้วัคซีนโควิด-19 booster หวังใช้วัคซีนที่มีข้อมูลประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อเชื้อกลายพันธุ์ กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง

รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า  
RCPT Letter จากกรรมการบริหารถึงสมาชิก
ปีที่ 2 ฉบับที่ 14 วันที่ 16 กรกฎาคม 2564
ราชวิทยาลัยฯ สนับสนุนใช้วัคซีนโควิด-19 booster
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยแถลงจุดยืนเรื่อง วัคซีนโควิด 19 ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เพื่อสนับสนุนให้ใช้วัคซีนที่มีข้อมูลประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อเชื้อกลายพันธุ์ กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่เพียงพอในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ ป้องกันการล่มสลายของระบบบริการรักษาพยาบาล และสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ต้องทำหน้าที่อย่างหนักและต่อเนื่องในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19

ต่อมาได้มีนโยบายจาก ศบค.  ออกมาชัดเจนแล้วว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนบริษัท Sinovac ครบ 2 เข็มแล้ว จะได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิต้านทาน โดยเป็นวัคซีนบริษัท AstraZeneca หรือวัคซีนบริษัท Pfizer
การที่ควรจะได้รับการกระตุ้นเข็มที่ 3 เนื่องจาก พบว่าภายหลังการได้รับวัคซีนบริษัท Sinovac ครบ 2 เข็มแล้ว พบว่า Nab ลดลงอย่างรวดเร็วภายใน 1 – 2 เดือน หลังเข็มที่ 2 จึงน่าจะมีการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ซึ่งควรเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม โดยเฉพาะในสถานการณ์ระบาดของสายพันธ์เดลต้า การกระตุ้นด้วยวัคซีนบริษัท AstraZeneca มีรายงานจากประชากรกลุ่มตัวอย่างจำนวนไม่มากในประเทศไทยที่แสดงว่าการกระตุ้นภูมิต้านทานในผู้ที่ได้รับวัคซีนบริษัท Sinovac ครบ 2 เข็มแล้ว ต่อทั้งสายพันธ์อัลฟ่าและเดลต้าได้ดี และน่าจะเป็นวัคซีนที่สามารถได้รับการฉีดกระตุ้นได้เร็วที่สุด  

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยหนุนใช้วัคซีนโควิด-19 booster
ส่วนการกระตุ้นด้วยวัคซีนบริษัท Pfizer มีรายงานในประชากรกลุ่มตัวอย่างจำนวนไม่มากในต่างประเทศ ที่พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีเช่นกัน และมีการใช้แล้วในประเทศตุรกี แต่ยังไม่มีรายงานผลให้ทราบ นอกจากนั้นยังไม่ชัดเจนว่าเราจะได้รับวัคซีนบริษัท Pfizer เมื่อไหร่  อย่างไรก็ตามยังไม่มีการรายงานเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์จากการกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนของทั้งสองบริษัท

 การตัดสินใจฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดใดจึงขึ้นกับการตัดสินใจของแต่ละท่าน โดยต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงต่อการเป็นโควิด-19 และความพร้อมของวัคซีนที่จะได้รับด้วย
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 28 ก.พ.- ก.ค. 64 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีการฉีดสะสมจำนวน 14,130,489 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 10,697,578 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 3,432,911 ราย