ข่าวดี วัคซีนใบยาป้องกันโควิด-19 ฝีมือคนไทย เตรียมทดสอบในมนุษย์ ก.ย.นี้

15 ก.ค. 2564 | 21:05 น.

รองโฆษกรัฐบาล แจ้งข่าวดี วัคซีนใบยาป้องกันโควิด-19 ฝีมือนักวิจัยไทยคืบ เตรียมทดสอบในมนุษย์ระยะแรก ก.ย.นี้ เผย ทีมวิจัยพร้อมส่งแบบโรงงานให้อย.ตรวจสอบคุณภาพ หากผ่านการทดสอบตามกระบวนการเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนให้คนไทยได้ใช้กลางปี 2565

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ความหวังเดียวในขณะนี้ก็คือ การฉีดวัคซีนต้านโควิดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในประเทศของตนให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด แต่ก็มีข้อจำกัดหลายประการทั้งในเรื่องของจำนวนการผลิต และราคาวัคซีนที่สูงอยู่ 

สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมามีนักวิจัยจำนวนไม่น้อยที่ทุ่มเท ค้นคว้าศึกษาและทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดที่สามารถผลิตได้เองภายในประเทศ

ข่าวดีล่าสุด นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาและวิจัย วัคซีนใบยา (Baiya SARS-CoV-2 VAX1) ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด19 ที่คิดค้นและฝีมือขึ้นจากนักวิจัยไทย ใจความว่า 

คืบหน้า! วัคซีนใบยาป้องกันโควิด ฝีมือนักวิจัยไทย เตรียมทดสอบในมนุษย์ระยะแรก ก.ย.นี้

วัคซีนใบยา (Baiya SARS-CoV-2 VAX1) เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด19 ฝีมือนักวิจัยไทย จาก บริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผลิตจากโปรตีนพืชใบยาสูบที่เรียกว่า "โปรตีนซับยูนิตวัคซีน" เป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับที่โรงงานอุตสาหกรรมยาหลายแห่งทั่วโลกใช้ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมัน เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น โดยผลิตวัคซีนตับอักเสบบีและวัคซีนมะเร็งปากมดลูกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับความคืบหน้า ขณะนี้มีโรงงานพร้อมผลิตวัคซีนแล้ว โดยทีมวิจัยจะส่งแบบโรงงานให้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบคุณภาพโรงงาน คาดว่า จะเริ่มผลิตวัคซีนได้ในอีก 2-3 สัปดาห์นี้

และเตรียมทดสอบในมนุษย์ระยะแรก ช่วงประมาณเดือนกันยายน 2564 ตามแผนที่วางไว้ โดยจะเปิดรับอาสาสมัครอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมนี้ ประมาณ 100 คน เป็นคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีอายุระหว่าง 18-55 ปี และ 65-75 ปี

ทั้งนี้ เมื่อวัคซีนใบยา ผ่านการทดสอบตามกระบวนการเรียบร้อยแล้ว คาดว่า จะสามารถผลิตให้คนไทยได้ใช้กันในช่วงกลางปี 2565 โดยประชาชนจะรับการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็ม แต่ละเข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ และจะขายในราคาต้นทุนประมาณเข็มละไม่เกิน 300 – 500 บาท