รู้จักวัคซีนโควิดไฟเซอร์ (Pfizer) ประสิทธิภาพ-ผลข้างเคียงมีอะไรบ้าง

15 ก.ค. 2564 | 11:15 น.
อัพเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2564 | 11:01 น.

ทำความรู้จัก วัคซีนโควิดไฟเซอร์ (Pfizer) ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ประสิทธิภาพต่างๆผลข้างเคียง ใครควรได้รับการฉีดและใครต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการฉีด เช็คข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดได้เลยที่นี่

ความชัดเจนเกี่ยวกับวัคซีนโควิดไฟเซอร์ (Pfizer) ในไทยที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงกันในตอนนี้ ทั้งในส่วนของ"หมอบุญ" หรือ นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัท บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ที่ออกมาประกาศชัดเจนว่าจะเซ็นสัญญานำเข้าวัคซีนโควิดไฟเซอร์ภายในเดือน ก.ค.นี้ 


ส่วนอีกฟากฝั่งอย่าง บริษัท ไบออนเทค ของเยอรมนี ก็ได้เปิดเผยสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ไม่ได้มีการเจรจาซื้อขายวัคซีนโควิด-19 กับบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)แต่อย่างใด 


ต่อกรณีดังกล่าวทาง"หมอบุญ" หรือ นพ.บุญ วนาสิน ได้ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่าเป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายนั้นต้องปฏิเสธเพราะเป็นเรื่องทางกฏหมาย ห้ามเปิดเผยข้อมูลการเจรจาระหว่างกันจนกว่าจะมีการเซ็นสัญญาเกิดขึ้น


ถือเป็นบทสรุปเบื้องต้นสำหรับดีลการนำเข้าวัคซีนโควิดไฟเซอร์ ที่หลายคนจับตามองกันในขณะนี้ ซึ่งหลังจากนี้ผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อไป แต่ที่แน่ๆคนไทยจะได้เห็นวัคซีนโควิดไฟเซอร์ภายในสิ้นปีแน่นอน

 

เนื่องจากก่อนหน้านี้ ครม.ได้ให้กรมควบคุมโรคลงนามในสัญญาซื้อวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 20 ล้านโดส และคาดว่าจะส่งมอบภายในสิ้นปีนี้ ส่วนก่อนหน้านั้นทางสหรัฐอเมริกาก็ได้บริจาควัคซีนไฟเซอร์ให้ประเทศไทย 1.5 ล้านโดส
 

วันนี้"ฐานเศรษฐกิจ"จึงได้รวบรวมข้อมูลที่มาที่ไป ประสิทธิภาพเบื้องต้น ผลข้างเคียงต่างๆเกี่ยวกับวัคซีนโควิดไฟเซอร์ มานำเสนอ ดังนี้ 

วัคซีนโควิดไฟเซอร์ เป็นวัคซีนประเภทไหน 
วัคซีนโควิดไฟเซอร์มีชื่อทางการว่า BNT162b2 เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19  ชนิดสารพันธุกรรม (mRNA vaccines)คิดค้นโดยบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ร่วมกับบริษัทสัญชาติเยอรมันชื่อไบออนเทค (BioNTech) โดยวัคซีนผลิตขึ้นจากการใช้สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ซึ่งเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย mRNA จะเข้าไปกำกับการสร้างโปรตีนส่วนหนาม (spike protein) ของไวรัสชนิดนี้ แล้วทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตัวนี้ออกมา

 

ประสิทธิภาพวัคซีนโควิดไฟเซอร์
ในเอกสารรายงานของบริษัทไฟเซอร์ระบุว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระยะเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 95%

 

การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ต้องฉีดกี่เข็ม
เอกสารจากไฟเซอร์ระบุว่าจะต้องฉีดวัคซีน 2 เข็ม โดยหลังจากการฉีดเข็มแรกจะเว้นระยะห่างกันราว 3 สัปดาห์แล้วจึงฉีดเข็มที่ 2  อย่างไรก็ตามหากผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วมีอาการแพ้รุนแรงไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิด mRNA ในเข็มที่สอง
 

ผู้ที่สามารถฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เป็นใครบ้าง 
-ผู้ที่อายุ 16 ปีขึ้นไป
-ผู้ที่อายุเกิน 65 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน (ผลศึกษาพบว่าร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพียงเล็กน้อย)
-สตรีมีครรภ์ หากแพทย์พิจารณาแล้วว่าประโยชน์ที่จะได้รับมีมากกว่าความเสี่ยง เช่น สตรีมีครรภ์มีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงเมื่อติดโควิด
-สตรีที่กำลังอยู่ระหว่างให้นมบุตร โดยเฉพาะหากเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านสาธารณสุข ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
-ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลให้อาการรุนแรงหากติดเชื้อโควิด 19 เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหอบหืด โรคปอด โรคตับ โรคไต และโรคติดเชื้อเรื้อรังอื่นๆ
-ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ควรได้รับวัคซีนหลังจากปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลแล้วเท่านั้น
-ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV เพราะมีโอกาสเสี่ยงสูง แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
-ผู้ที่เคยติดโควิด 19 มาแล้ว อาจรับวัคซีนไฟเซอร์หลังจากติดโควิด 19 มาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน

 

ผู้ที่ไม่ควรรับฉีดวัคซีนไฟเซอร์ หรือควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์
-ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 16 ปี 
-ผู้ที่มีอาการแพ้ หรือโรคภูมิแพ้ฉับพลัน หรือแพ้ส่วนผสมของ mRNA ในวัคซีนโควิด-19 ไม่ควรรับวัคซีนชนิดนี้

 

อาการข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนโควิดไฟเซอร์ 
รายงานจากต่างประเทศเผยว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 1 ล้านคน มีโอกาสพบผู้ที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงประมาณ 4.7 คน และในสหรัฐอเมริกา ยังไม่พบผู้ที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ส่วนอาการที่พบเห็นได้ มีดังนี้ 

 

  • อาการปวด บวม แดง คัน หรือช้ำ ตรงจุดที่ฉีดยา
  • รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สบายตัว ปวดหัวเล็กน้อย
  • มีอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและตามข้อ
  • มีอาการคลื่นไส้

นอกจากนั้นแล้วยังมีรายงานกรณีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประเภท mRNA พบว่า เข็มที่ 2 มีแนวโน้มอาการข้างเคียงรุนแรงมากกว่าเข็มแรก ซึ่งอาจจะแตกต่างจากวัคซีนประเภท viral vector (แอสตร้าเซนเนก้า) ที่เข็ม 2 มักจะมีแนวโน้มรุนแรงน้อยกว่าเข็มแรก