เอกชนออร์เดอร์วัคซีน mRNA ลุ้นราคาถูกกว่า “โมเดอร์นา”

14 ก.ค. 2564 | 08:50 น.

เอกชนฮึดวิ่งหาวัคซีนทางเลือกเพิ่ม “รพ.ธนบุรี” ซุ่มจับมือองค์กรรัฐ จ่อนำเข้า “โนวาแวกซ์-ไฟเซอร์ ไบออนเทค” 20 ล้านโดส มั่นใจราคาถูกกว่าโมเดอร์นา พร้อมฉีดได้เร็วสุดก.ค.นี้ ขณะที่สมาคมรพ.เอกชน เปิดให้จองวัคซีนบูสเตอร์ ภายใน 16 ส.ค. นี้

ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากแม้จะฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็ม สร้างความตื่นตระหนกและทำให้ความต้องการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ หรือ mRNA เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้จะต้องรอนำเข้าในไตรมาส 4 วัคซีนทางเลือกอื่นจึงเป็นที่หมายตาของโรงพยาบาล

 

ล่าสุดเครือรพ.ธนบุรี ได้ออกมายอมรับว่าจับมือกับองค์กรรัฐ เพื่อนำเข้าวัคซีนทางเลือกตัวใหม่ เช่นเดียวกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน

 

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ผู้บริหารเครือโรงพยาบาลธนบุรี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความคืบหน้าในการนำเข้าวัคซีนทางเลือก 2 ยี่ห้อใหม่คือ โนวาแวกซ์ (Novavax) ประเทศสหรัฐอเมริกา

 

และ ไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) ประเทศเยอรมนีนั้น ขณะนี้ผ่านขั้นตอนต่างๆมากแล้ว เหลืออีก 3-4 ขั้นตอน อาทิ การพิจารณาของนายกรัฐมนตรี, การติดต่อประสานทางของกระทรวงต่างประเทศ เป็นต้น

นายแพทย์บุญ วนาสิน

หากดำเนินการได้อย่างรวดเร็วก็สามารถสั่งซื้อและนำเข้ามาได้เร็วที่สุดคือในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ หรืออย่างช้าเดือนสิงหาคมก็สามารถฉีดให้กับคนไทยได้ โดยเบื้องต้นหากกระบวนการต่างๆแล้วเสร็จ จะสั่งซื้อโนวาแวกซ์ ล็อตแรก 10 ล้านโดส และไฟเซอร์-ไบออนเทคอีก 10 ล้านโดส

 

ซึ่งทั้งสองบริษัทยังไม่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย จะต้องมีการจดทะเบียนบริษัทใหม่ พร้อมกับนำเข้าโดยตรง ทำให้ได้ต้นทุนที่ถูกลงทำให้ราคาวัคซีนและค่าบริการต่างๆ จะถูกกว่าโมเดอร์นา

 

“คนไทยจำเป็นต้องได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่าง mRNA เพื่อควบคุมไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งเชื้อไวรัสเองมีการพัฒนาสายพันธุ์ต่อเนื่อง ล่าสุดก็มีการพบสายพันธุ์ผสมระหว่างเดลตากับอัลฟา

เอกชนออร์เดอร์วัคซีน mRNA ลุ้นราคาถูกกว่า “โมเดอร์นา”

ดังนั้นวัคซีนเองก็ต้องมีการพัฒนา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการกับเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ ซึ่งการสั่งซื้อวัคซีนปริมาณมากในระยะยาว เชื่อว่าจะต้องปรับเปลี่ยนแผน เพราะจะไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้”

 

การระบาดเยอะและรวดเร็ว จะทำให้เกิดการผสมสายพันธุ์ได้ง่าย ขณะที่วัคซีนเชื้อตายไม่สามารถพัฒนาได้ทัน แต่ขณะเดียวกันวัคซีนหลายชนิดก็อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาต่อยอด เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสให้ได้มากที่สุด เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ที่พัฒนาเวอร์ชั่น 2 และคาดว่าจะเปิดตัวได้เร็วๆนี้

 

การที่โรงพยาบาลสั่งมาในปริมาณมากนั้นเพราะเรามีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในอนาคตหากโรงพยาบาลอื่นต้องการ เราก็ยินดีขายให้ในราคาทุน ไม่เอากำไร แต่ที่เราต้องเริ่มผลักดันให้มีการนำเข้ามาเร็วๆ เพราะมองว่า วัคซีน คือหัวใจสำคัญของการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังกลายพันธุ์และเป็นวิกฤติของประเทศในขณะนี้

 

“อยากให้มีคนริเริ่มนำเข้ามา ใครก็ได้ ถ้าเป็นรัฐบาลทำจะดีกว่าเราทำเยอะ เพราะทั่วโลกก็กำหนดให้ต้องเป็นการสั่งซื้อแบบรัฐต่อรัฐ แต่ที่ผ่านมารัฐประมาท ไม่ได้ทุ่มเททางด้านการป้องกันกับด้านวัคซีน ซึ่งวัคซีนคือหัวใจสำคัญที่สุด หากเราปูพรมตรวจเชื้อและฉีดวัคซีนแบบอังกฤษ หรืออเมริกาก็จะจัดการได้”

 

จนถึงปัจจุบันไทยก็ยังไม่มีวัคซีนทางเลือก ซึ่งยังต้องรอเซ็นสัญญาต้นเดือนสิงหาคม และกว่าจะนำเข้าได้ก็ต้องเป็นไตรมาส 4 เช่นเดิม ทั้งๆที่สถานการณ์เช่นนี้ควรจะต้องเร่งเซ็นสัญญาสั่งซื้อ และนำเข้าให้รวดเร็วที่สุด

 

นพ.บุญ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดีการเริ่มต้นให้ใช้ Rapid Antigen Test เป็นการทั่วไป ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้ผู้ติดเชื้อรู้ตัวเร็ว สามารถแยกตัวไปรักษา และกักตัวกลุ่มเสี่ยงได้ การติดเชื้อก็จะลดลง ซึ่งในต่างประเทศ การตรวจเชิงรุก แยกตัว กักตัว รักษา จะช่วยทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดลดลง

เอกชนออร์เดอร์วัคซีน mRNA ลุ้นราคาถูกกว่า “โมเดอร์นา”

อย่างไรก็ดี นอกจากการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 แล้ว ล่าสุด การฉีดวัคซีนในเข็มที่ 3 หรือ Booster ถือว่ามีความสำคัญไม่น้อย เพราะภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนเข็ม 1 และ 2 จะอยู่ได้ในระยะเวลา 6-7 เดือน ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของวัคซีนยี่ห้อนั้นๆ ดังนั้นวัคซีนเข็ม 3 จึงเป็นตัวช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

ล่าสุดสมาคมโรงพยาบาลเอกชน จึงเปิดให้สมาชิกโรงพยาบาลเอกชนสั่งซื้อวัคซีน Booster ที่มีประสิทธิภาพป้องกันไวรัสได้หลายสายพันธุ์ โดยให้โรงพยาบาลเอกชนสำรวจและสั่งจองวัคซีนแล้ว ภายในวันที่ 16 ส.ค. นี้ เพื่อที่จะดำเนินการสั่งซื้อและจอง ซึ่งจะฉีดให้บริการได้ในไตรมาส 2 ปี 2565 ส่วนจะเป็นยี่ห้อใดนั้นยังไม่ได้รับการเปิดเผยชื่อ