การแยกกักตัวที่บ้าน-Home Isolation คืออะไร มีเกณฑ์พิจารณาอย่างไรบ้าง

11 ก.ค. 2564 | 03:53 น.
อัพเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2564 | 11:19 น.

กรมการแพทย์ เผยการแยกกักตัวที่บ้าน-Home Isolation คือ การ admit ผู้ป่วยรายใหม่ไว้ดูแลที่บ้านก่อน สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้าเกณฑ์ ต้องเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ อายุน้อยกว่า 60 ปี สุขภาพแข็งแรง และยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง โดยดุลยพินิจของแพทย์

กระทรวงสาธารณสุข ใช้มาตรการการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการกักตัวในชุมชน (Community Isolation) เพื่อให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย(สีเขียว) เข้าระบบการรักษาเร็ว แจกเครื่องวัดไข้ วัดออกซิเจนในเลือด แพทย์พยาบาลติดตามอาการใกล้ชิดด้วยระบบเทเลเมดิซีน วันละ 2 ครั้ง  ส่งต่อโรงพยาบาลเมื่ออาการเปลี่ยนแปลง  

การแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation คืออะไร

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การแยกกักตัวที่บ้าน คือ การ admit ผู้ป่วยรายใหม่ไว้ดูแลที่บ้านก่อน หากอาการแย่ลงจะรับมาดูแลรักษาที่โรงพยาบาล และเป็นการบริหารจัดการเตียงให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด จากที่ผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาล 14 วัน จะนำผู้ป่วยที่รักษา 7 – 10 วันแล้วอาการดีขึ้น ออกไปแยกกักตัวที่บ้าน จะช่วยให้มีเตียงเพิ่มอีกประมาณ 40 – 50%  เพื่อรับผู้ป่วยใหม่ 

สำหรับการแยกกักตัวในชุมชน กรมการแพทย์ กทม. โรงเรียนแพทย์ ได้เตรียมสถานที่แล้ว ส่วนใหญ่ใช้สถานที่โล่งๆ เช่น ศาลาวัด หรือหอประชุมโรงเรียน นอกจากนี้ยังสามารถใช้แคมป์คนงานหรือหมู่บ้านที่มีที่แยกตัวให้กับผู้ติดเชื้อ และไม่ควรเกิน 200 คนเพื่อลดแออัด และสิ่งแวดล้อมถูกสุขลักษณะ แยกน้ำเสียหรือขยะออกจากชุมชนได้ โดยรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย ที่ไม่ต้องใช้ออกซิเจน ซึ่งขอขอบคุณภาคประชาสังคม และเพจต่าง ๆ ที่ช่วยประสานรวบรวมจำนวนผู้ป่วยมาขึ้นทะเบียน สนับสนุนอาหารให้ผู้ป่วย

สำหรับการแยกกักตัวที่บ้านและแยกกักตัวในชุมชนนั้น ซึ่งได้กำหนดเกณฑ์ของผู้ติดเชื้อ ต้องสมัครใจ และสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้ สถานที่เหมาะสม ใช้จุดแข็งของไทย คือ บ้าน วัด โรงเรียน โดย Home Isolation บ้านต้องมีห้องนอนแยก ส่วน Community Isolation ใช้วัด หรือโรงเรียน มีช่องทางสื่อสารผ่านเทเลคอนเฟอเรนซ์ วิดีโอคอล ติดตามอาการทุกวัน โดยแพทย์ พยาบาล วันละ 2 ครั้ง และมีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน  รวมทั้งต้องลงทะเบียนกับสถานพยาบาล (มีแผนขยายไปยังชุมชนอบอุ่น และสถานพยาบาลใกล้บ้าน) 

ผู้ติดเชื้อจะได้รับเครื่องวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และแนะนำวิธีทดสอบง่ายๆ กรณีสงสัยว่าปอดมีปัญหาหรือไม่ โดยให้วัดออกซิเจนในเลือดก่อนออกกำลังกายลุกนั่ง 1 นาที และวัดซ้ำหลังทำ หากปริมาณออกซิเจนลดลงมากกว่า 3 % จะรับมารักษาที่โรงพยาบาล และมีระบบรีเฟอร์ผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน

สำหรับเกณฑ์พิจารณาผู้ป่วย Home Isolation 

  1. จะต้องเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ 
  2. อายุไม่เกิน 60 ปี 
  3. สุขภาพแข็งแรง
  4. อยู่คนเดียวหรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
  5. ไม่มีภาวะอ้วน BMI น้อยกว่า 30 kg/m2  หรือ BW 90 kg
  6. ไม่มีโรคร่วม ดังต่อไปนี้ 
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 
  • โรคไตเรื้อรัง 
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด 
  • โรคหลอดเลือดสมอง 
  • เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ 
  1. ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง โดยสถานพยาบาลจะประเมินผู้ติดเชื้อตามดุลยพินิจของแพทย์ 

การแยกกักตัวที่บ้าน-Home Isolation คืออะไร มีเกณฑ์พิจารณาอย่างไรบ้าง
 

นายแพทย์สมศักดิ์  กล่าวว่า โครงการนี้ได้เริ่มทำแล้วที่โรงพยาบาลราชวิถี จำนวน 20 ราย ได้ผลดี ทุกรายอาการดีขึ้น 

“ขณะนี้ มีผู้ขึ้นทะเบียน Home Isolation ที่รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน และ รพ.นพรัตน์ราชธานี 200 กว่าราย และขึ้นทะเบียน Community Isolation อีกกว่า 200 ราย และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมแล้วประมาณ 400 – 600 ราย เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว ซึ่งสปสช.สนับสนุนงบประมาณค่าอาหารให้กับผู้ป่วยทุกราย สำหรับผู้ติดเชื้อที่ต้องการร่วมโครงการ ติดต่อได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1330” นายแพทย์สมศักดิ์กล่าว