"AstraZeneca" 2 เข็มลดการป่วยหนัก-นอนรพ.จากโควิดสายพันธุ์อินเดียได้ 92%

29 มิ.ย. 2564 | 02:05 น.

หมอมนูญเผยข้อมูลการฉีดวัคซีน AstraZeneca 2 เข็มช่วยลดการป่วยหนักเข้านอนโรงพยาบาลจากโควิดสายพันธุ์อินเดียได้ 92%

รายงานข่าวระบุว่า นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า
    ยุทธศาสตร์ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แต่ละประเทศแตกต่างกันแล้วแต่จำนวนวัคซีนที่หามาได้ ของไทยเน้นปูพรมฉีดเข็มแรกโดยเฉพาะวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้มากที่สุดอย่างน้อย 50 ล้านคนให้เร็วที่สุดใน 120 วัน เป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องในภาวะที่วัคซีนขาดแคลน โดยยืดเวลาการให้วัคซีนแอสตร้าเข็มที่ 2 ออกไปเป็น 12-16 สัปดาห์ แทนที่จะเน้นให้ทุกคนต้องฉีดคนละ 2 เข็มใน 8 สัปดาห์เหมือนประเทศที่มีวัคซีนเหลือพอ ในประเทศสหรัฐอเมริกา 1 ใน 10 คนที่ฉีดเข็มแรกไฟเซอร์ (Pfizer) หรือโมเดอร์นา (Moderna) ปฏิเสธเข็มที่ 2 แต่ขณะนี้คนที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในสหรัฐฯคือคนที่ไม่เคยรับวัคซีน
    เป็นที่ทราบกันดีจำนวนคนป่วยหนักเข้านอนโรงพยาบาลและใส่ท่อหายใจเพิ่มขึ้นทุกวัน จนเตียงในไอซียูในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ (ดูรูป) ยิ่งกว่านั้นเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ที่พบบ่อยที่สุดประมาณ 80 กว่า% เป็นสายพันธุ์อัลฟ่าหรือสายพันธุ์อังกฤษ ตามมาด้วยสายพันธุ์เดลต้าหรือสายพันธุ์อินเดียเกือบ 20%  เนื่องจากสายพันธุ์เดลต้าแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษ 60%  เชื่อว่าอีกไม่นานสายพันธุ์เดลต้าจะขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แทนสายพันธุ์อัลฟ่าในประเทศไทย

จำนวนผู้ป่วยครองเตียง
    มีการศึกษาจากประเทศสหราชอาณาจักร วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกสามารถลดการป่วยหนักเข้านอนโรงพยาบาลจากสายพันธุ์เดลต้า 71% เทียบกับสายพันธุ์อัลฟ่า 76%
    วัคซีนแอสตร้า 2 เข็มลดการป่วยหนักเข้านอนรพ.จากสายพันธุ์เดลต้า 92% เทียบกับสายพันธุ์อัลฟ่า 86% (ดูรูป) 

ประสิทธิผลของวัคซีนไฟเซอร์-แอสตร้าเซนเนก้า
    การปูพรมฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกให้เร็วที่สุด อย่างน้อย 50 ล้านคนใน 120 วัน เป็นการให้ที่แข่งกับเวลาก่อนที่เชื้อสายพันธุ์เดลต้าจะขึ้นมาแทนที่สายพันธุ์อัลฟ่า วัคซีนแอสตร้าแม้เพียงเข็มแรกก็ช่วยลดจำนวนคนป่วยหนักเข้านอนรพ.มากกว่า 70%  สำหรับวัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์มต้องให้ 2 เข็มใน 3-4 สัปดาห์ถึงจะมีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยหนักเข้านอนในโรงพยาบาลและเสียชีวิต หลังฉีดวัคซีนแล้ว ทุกคนก็ยังต้องใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือเหมือนเดิม
    ยุทธศาสตร์เมื่อกำหนดแล้วต้องทำให้ได้ ฝากความหวังกับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ผู้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าสามารถทยอยส่งมอบวัคซีนให้กระทรวงสาธารณสุขมากที่สุดทันตามกำหนดเวลา
    ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทยวันที่ 28 ก.พ.-27 มิ.ย. 2564 พบว่า ฉีดสะสมแล้วจำนวน 9,147,512 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 6,537,851 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 2,609,661 ราย
    อย่างไรก็ดี หากแยกชนิดของการฉีดวัคซีนจะพบว่า มีการฉีดวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) เข็มที่ 1 สะสมจำนวน 3,499,126 ราย และเป็นแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca)จำนวน 3,036,651 ราย 
    ส่วนเข็มที่ 2 ของวัคซีนซิโนแวคฉีดสะสมจำนวน 2,552,474 ราย และเข็มที่ 2 ของแสตร้าเซนเนก้าจำนวน 57,187 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :