"ล็อกดาวน์ กทม." หยุดการระบาดในเมือง "หมอธีระ" ชี้ความสำเร็จแขวนบนเส้นด้าย 2 เส้น

26 มิ.ย. 2564 | 07:55 น.

หมอธีระเผยล็อกดาวน์ กทม. หยุดการระบาดในเมือง ชี้ความสำเร็จแขวนบนเส้นด้ายเพียง 2 เส้น ระบุการตัดวงจรต้องคำนึงถึงธรรมชาติการระบาด

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
    หยุดการระบาดในเมือง 2564...
    โจทย์นี้ทำให้นึกถึงวันที่ 18 มีนาคม 2563 ที่ร่างข้อเสนอเชิงนโยบายขึ้นมา และนำเสนอในวันที่ 19 มีนาคม 2563 เพื่อให้พิจารณาล็อกดาวน์ตัดวงจรการระบาดระลอกแรก
การหยุด ณ ตอนนี้ ไม่เหมือนระลอกแรกนะครับ
    ระลอกแรกนั้น เรานำเสนอวิธีการ เงื่อนเวลาในการตัดสินใจ และดำเนินการทำอย่างทันเวลาก่อนจะขึ้นสู่พีคการระบาด และจำนวนการติดเชื้อในชุมชนยังไม่มากและกระจายไปทั่วแบบในปี 2564
ผลลัพธ์จากระลอกแรกจึงเป็นดังที่เห็นมาคือ กดการระบาดจนเหลือศูนย์ได้ 
    แต่ตอนนี้ การระบาดขึ้นมาสู่ระดับสูงมาก ยาวนานต่อเนื่องหลายเดือน สะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นจริงว่ามีการติดเชื้อกระจายไปทั่ว จับต้นชนปลายไม่ถูก ทุกคนมีสิทธิติดเชื้ออยู่โดยไม่รู้ตัวและแพร่ให้คนใกล้ชิดได้โดยไม่รู้ตัว ทั้งนอกบ้านและในบ้าน
    การ"หยุด" เพื่อตัดวงจรการระบาดสำหรับปัจจุบันนี้ จะต้องคำนึงถึงธรรมชาติของการระบาดด้วย กล่าวคือ ต้องคิดเสมือนว่าทุกคนมีโอกาสมีเชื้ออยู่โดยไม่รู้ตัว พอหยุดอยู่กับที่แล้ว คนที่อยู่อาศัยในที่เดียวกันจะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อแพร่เชื้อกันได้ ไม่ว่าจะในรูปแบบบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ หอพัก แฟลต อพาร์ตเมนต์ คอนโด หรือชุมชนแออัด 

หยุดการระบาดในเมือง
    ความสำเร็จจะแขวนบนเส้นด้ายเพียง 2 เส้น
    หนึ่ง ทำอย่างไรให้เป็น 2 สัปดาห์ที่สมาชิกในบ้านอยู่ในที่พักโดยใส่หน้ากาก แยกกันกิน และอยู่ห่างกัน หากเป็นไปได้ หากทำไม่ได้อย่างสมบูรณ์ ก็ขอให้อย่างน้อยช่วยกันสังเกตและไถ่ถามอาการของแต่ละคน หากไม่สบายก็ให้รีบไปตรวจ
    สอง ทำอย่างไรที่จะตะลุยตรวจคัดกรองโรคให้ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะตอนนี้การติดเชื้อกระจายไปทั่วในชุมชน โดยอาจต้องผสมผสานหลายวิธี ทั้งแบบการนัดตรวจที่สถานบริการ ออกรถโมบายกระจายไปทั่วพื้นที่ ตลอดจนการทำ "Knock the door and do the test"
    สองเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้มีโอกาสตัดวงจรการระบาดได้สำหรับระลอกสาม
    นโยบายและมาตรการใดที่อ้างโน่นนี่นั่น แต่นำมาซึ่งความสูญเสีย ทั้งในรูปของการติดเชื้อหลายแสนคนในไม่กี่เดือน และการสูญเสียชีวิตของคนเป็นพันๆ คน ถือเป็นภาพสะท้อนปัญหาในการจัดการต่อสู้กับโรคระบาด 

หยุดการระบาดในเมือง
    หากปราศจากชีวิต...ย่อมไม่มีทางเสกให้ฟื้นคืนมา 
    ทุกชีวิต...ล้วนมีคุณค่ายิ่ง
    ด้วยรักและห่วงใย
    ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 (Covid-19) วันที่ 28 ก.พ.-25 มิ.ย. 64 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ฉีดสะสมไปแล้ว 8,981,478 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 สะสมจำนวน 6,435,308 ราย และเข็มที่ 2 สะสมจำนวน 2,546,170 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :