อาการแบบไหนฉีดวัคซีนเข็ม 2 ชนิดเดิมได้-แบบไหนห้ามฉีดชนิดเดิม เช็กที่นี่

17 มิ.ย. 2564 | 08:40 น.

หมออนุตตรเผยข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์แบบไหนสามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ชนิดเดิมได้และแบบไหนห้ามฉีดชนิดเดิม

รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า
     มีคนถามมาว่าฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว มีอาการแพ้หลังได้รับการฉีด  ซึ่งในทางการแพทย์เราเรียกว่าอาการไม่พึงประสงค์ จะฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ตามนัดได้หรือไม่ แล้วควรเปลี่ยนชนิดของวัคซีนเข็มที่ 2 ไหม? ขอเอาคำแนะนำของกรมควบคุมโรคมาให้ทราบกันครับ
    ข้อพิจารณาการให้วัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 2 
    อาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนโควิด-19 ที่ไม่รุนแรง ที่พิจารณาให้วัคซีนเข็มที่ 2 ชนิดเดิมได้ 
    อาการไม่รุนแรงดังต่อไปนี้
    1. ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด
    2. ไข้
    3. อ่อนเพลีย ง่วงนอน
    4. เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
    5. ปวดเมื่อยลำตัว
    6. ผื่น เช่น maculopapular rash
    สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ อาจให้กินยา กลุ่ม antihistamine ที่ไม่มีผลข้างเคียง คือ อาการง่วงนอน (Non-sedative Antihistamine) เช่น Cetirizine หรือ 
Loratadine ก่อนฉีดวัคซีน 30 นาที
    อาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนโควิด 19 ที่รุนแรง ห้ามให้วัคซีนเข็มที่ 2 ชนิดเดิม
    ผู้ที่มีประวัติในข้อ A หรือข้อ B ดังต่อไปนี้
    A. อาการแพ้รุนแรงชนิดแอนาฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) คือ มีอาการมากกว่า หรือเท่ากับ 2 ข้อ ดังต่อไปนี้ หลังได้วัคซีนโควิด 19 เข็มแรกภายใน 30 นาที* 
    1. มีอาการทางระบบผิวหนังหรือเยื่อบุ เช่น ผื่นลมพิษทั่วตัว คัน ผื่นแดง หรือมีอาการบวมของปากลิ้น และเพดานอ่อน เป็นต้น 
    2. มีอาการของระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล เสียงแหบ หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีดจากหลอดลมที่ตีบตัน เสียงฮื้ดตอนหายใจเข้า (Stridor) มีการลดลงของ Peak expiratory flow (PEF) ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง 
    3. ความดันเลือดลดลงหรือมีการทำงานของระบบต่าง ๆ ล้มเหลว เช่น Hypotonia (Collapse) เป็นลม อุจจาระ ปัสสาวะราด เป็นต้น 
    4. มีอาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น 
    B. อาการข้างเคียงใด ๆ ที่รุนแรงที่ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
    ผู้ที่มีประวัติในข้อ A หรือข้อ B ดังกล่าว อาจพิจารณาให้วัคซีนครั้งต่อไป ด้วยวัคซีนโควิด 19 คนละยี่ห้อ หรือคนละแบบ (ที่ไม่มีส่วนผสมที่เหมือนกัน) โดยการฉีดวัคซีนเข็มที่สองให้ตามวันที่กำหนดนัดของวัคซีนเข็มที่ 2 เดิม และ สามารถนับต่อเป็นเข็มที่ 2 ได้เลย

ข้อพิจารณาการให้วัคซีนโควิด-19
    ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทยวันที่ 28 ก.พ.-16 มิ.ย.64 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีการฉีดสะสมแล้ว 7,003,783 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 5,114,755 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 1,889,028 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :